พระวาจาในชีวิต vs ชีวิตในพระวาจา
ถามว่า “พระวาจาในชีวิต” และ “ชีวิตในพระวาจา” นั้น แตกต่างกันอย่างไร?
ใคร่ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ในชีวิตของเราเปรียบเทียบดังนี้
มี/รู้ “พระวาจาในชีวิต” เปรียบเสมือน : |
ดำเนิน ชีวิตในพระวาจา หมายถึง |
1. นำต้นกล้าต้นไม้ที่ยังอยู่ในถุงพลาสติกสีดำไปปลูกในกระถาง หรือนำไปลงหลุมที่ขุดในสนามโดยมิได้นำถุงดำออก รากต้นไม้จึงไม่สามารถดูดธาตุอาหารจากผืนดินที่อยู่ภายนอกถุงดำที่มีธาตุอาหารมากกว่าและดีกว่าดินในถุงดำ |
นำถุงพลาสติกสีดำออกจากต้นกล้า ก่อนนำลงในกระถางหรือลงในหลุมปลูกในสนาม เพื่อให้ต้นกล้าได้ปุ๋ยจากดินที่ดีกว่า ถุงดำนี้คือตัวเราเอง ego ของเรา เราสลัดและสละตัวเองออก รากของต้นกล้าจึงจะไม่ถูกกีดกัน โดยถุงดำ (ตัวเราเอง) |
2. อ่านรายการเครื่องประกอบอาหารตามเมนู รู้ว่าต้องเตรียมเนื้อ เตรียมผัก เตรียมกระเทียมเครื่องปรุงต่างๆ เรารู้ว่ามีอาหารที่น่าเอร็ดอร่อยอะไรบ้าง แต่ถ้าหยุดนิ่งเฉยเพียงแค่นี้ สิ่งที่เราได้ก็คือ รู้ว่ามีของทานอะไรบ้าง แต่ไม่มีอาหารจริงๆรับประทาน |
รู้รายการเครื่องประกอบอาหารสำหรับเมนูต่างๆ และออกไปที่ตลาด ซื้ออาหารดิบต่างๆเหล่านั้น และนำมาทำความสะอาด หั่น เตรียมผสมเครื่องปรุงและนำไป ผัด หุง ต้ม นึ่ง เพื่อให้ได้อาหารต่างๆนั้นตามเมนูเพื่อรับประทาน การเป็นพ่อครัว แม่ครัว ต้องไปจ่ายตลาดเพื่อซื้ออาหารดิบ เพื่อนำมาประกอบอาหารตามเมนูนี้ ย่อมต้องเหนื่อยกว่า แต่เราได้รับประทานอาหารนั้นๆ ไม่ใช่ดูแต่เมนู |
3. เป็นคนขับแท็กซี่ ขับแท็กซี่ตั้งแต่เช้าจรดเย็นไปตามเส้นทางต่างๆในกรุงเทพฯ เพื่อให้รู้จักถนนหนทาง รู้จักซอยเล็ก ซอยน้อย รู้จักทุกเส้นทางแต่ระหว่างทางไม่ยอมรับผู้โดยสารเลย จึงไม่ได้ค่าโดยสาร เสียน้ำมันฟรี แถมผิดวัตถุประสงค์ของแท็กซี่ ที่จะต้องนำคนอื่นสู่จุดหมายปลายทาง |
รู้จักจอดรับผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางที่เขาต้องการ ถ้าไม่รู้จักหนทาง ก็ดูแผนที่ หรือถามผู้โดยสารที่ต้องการไปที่นั่น เช่นนี้ สมกับได้ชื่อเป็นแท็กซี่ คือนำผู้คนสู่จุดหมายปลายทางที่เขาต้องการเดินทางไป ชีวิตของมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้เป็นการเดินทางสู่บ้านถาวร นั่นคือ ชีวิตหน้านิรันดรกับพระบิดาในสวรรค์ กระแสเรียกของคริสตชนเป็นคนขับแท็กซี่ ที่จะนำตัวเองและเพื่อนมนุษย์สู่พระบิดาด้วย |
4.รับประทานแฮมเบอเกอร์ให้มากที่สุดเพื่อรับรางวัล แต่ไม่รู้รสชาติ หรือรู้สึกความอร่อยของอาหารเลย มันเป็นการแข่งขัน ไม่ใช่การรับประทาน (หมายถึง การอ่านพระคัมภีร์แบบเร็วๆ แบบลวกๆ ประเภทแข่งกันอ่านเพื่อให้รู้พระคัมภีร์มากที่สุด รู้ว่าเรื่องไหนอยู่ตรงไหนในพระคัมภีร์) |
ค่อยๆรับประทานอาหารเพื่อให้รู้รสชาติ และเพื่อให้ความสุขแห่งการรับประทาน และเพื่อคุณประโยชน์ของอาหารต่อสุขภาพ แต่ละวัน อ่าน คิด รำพึงภาวนาพระวาจาด้วยความสำนึกตระหนักต่อการประทับของพระเจ้าในตัวเรา ในเหตุการณ์รอบตัวเรา โดยให้ชีวิตของเราเป็น “ข่าวดี” แก่ผู้อื่นด้วย |
5. สื่อข้อความด้วยตัวอักษร แต่ไม่ได้ติดตามด้วยการกระทำ จึงไม่เกิดผลตามต้องการ |
สื่อด้วยกิจการภายนอก ด้วยหนังสือ ด้วยการเขียน ยังไม่เพียงพอ ต้องสื่อด้วยจิตใจ ด้วยการกระทำเป็นรูปธรรมด้วยจึงจะเกิดผล ตามความถนัด ตามหน้าที่รับผิดชอบ ตามกระแสเรียกของตน โดยสำนึกตลอดเวลาว่า ชีวิตคนเรานั้นสัมผัส สัมพันธ์ กระทบ มีอิทธิพลกับชีวิตของคนอื่นรอบข้างตัวเราตลอดเวลา |
6. เป็นบรรณารักษ์ (librarian) เป็นผู้ดูแลหนังสือทุกเล่มในห้องสมุด ทำรายชื่อหนังสือ รู้ว่าเล่มไหน อยู่กลุ่มไหนอยู่ชั้นวางหนังสืออันไหน อยู่ตรงไหนในห้อง แต่ตัวเองไม่ได้อ่าน ไม่ได้ศึกษาหนังสือเหล่านี้เลย จึงรู้แต่ชื่อหนังสือ แต่ไม่ได้รับความรู้ที่มีคุณค่าที่พิมพ์อธิบายในหนังสือเหล่านี้ |
อยู่กับหนังสือและอ่านหนังสือ วิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลวิจัย ค้นคว้าเพิ่มเติมกับหนังสืออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง และนำมาครุ่นคิด ไตร่ตรอง รำพึง และในที่สุดภาวนาในใจ ในสมอง และสังเคราะห์ออกมาในการปฏิบัติ ทำให้กิจการกิจกรรมที่ดำเนินชีวิตมีความหมายมีคุณค่ามากขึ้นกับตนเอง และกับเพื่อนมนุษย์ |
7.เป็นนักเรียน นักศึกษา ศึกษาในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย แต่ละปีได้เลื่อนชั้นเรียนวิชาที่สูงขึ้น ยากขึ้น แต่ไม่ยอมหยุดเรียน ชอบเรียนอย่างเดียว ไม่ยอมออกจากโรงเรียน/ มหาวิทยาลัย หางานทำ |
จบการศึกษาแล้วหางานทำตามความถนัด ตามความสามารถเฉพาะตัวของตน นำความรู้วิชาชีพที่ตนเรียนมาใช้ในงานอาชีพ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของตนเองและของผู้อื่นให้ดีขึ้น อันยังผลให้สังคมชุมชนมีสภาพดีขึ้น สิ่งแวดล้อมของสังคมดีขึ้น เป็นการเสริมสร้างพระอาณาจักรพระเจ้าในโลกนี้ |
ที่มา : จากหนังสือ 2015 ชีวิตเริงร่า เขียนโดย ราฟาแอล หน้า 155-156