Get Adobe Flash player

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานฯ

 imageedit 1 6373507384

บาทหลวงปิยะชาติ   มะกรครรภ์

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูต

อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

Facebook


banner face holych Custombanner_face_pmg_Custom.pngPresentation2 Custom

งานอื่นๆของฝ่าย

Slide6 CustomSlide5 Custom

เวลา

pope

ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร
จาก
พระสันตะปาปา ฟรังซิส
(Evangelii Gaudium – The Joy of the Gospel)
     หลังจากที่พระสันตะปาปาฟรังซิสได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาไม่กี่เดือน พระองค์ก็ได้ประกาศพระสมณสาส์น “Lumen Fidei – แสงสว่างแห่งความเชื่อ” ซึ่งพระองค์กล่าวว่าเป็นสมณสาส์นที่ประพันธ์โดย 4 พระหัตถ์ คือ เริ่มต้นโดยพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 แล้วพระองค์มานิพนธ์ต่อจนจบ และประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2013
และเมื่อวันสิ้นสุด “ปีแห่งความเชื่อ” ในวันอาทิตย์ฉลองพระคริสตราชา วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ.2013 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสก๋ได้ประกาศพระสมณสาสน์ที่พระองค์ทรงนิพนธ์เอง จากผลการประชุมสมัชชาพระสังฆราช ครั้งที่ 13 เรื่อง “การประกาศพระวรสารครั้งใหม่ เพื่อถ่ายทอดความเชื่อคริสตชน” (ที่ประชุมระหว่างวันที่ 7 – 28 ตุลาคม ค.ศ.2012) พระสมณสาสน์ Evangelii Gaudium – ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร ได้ให้แนวทางการประกาศข่าวดีครั้งใหม่ New Evangelization และเป็นป้ายชี้ทาง (Guideposts) สู่ความชื่นชมยินดี (Joy) ในการประกาศพระวรสารนี้ด้วย พระสมณสาส์นเตือนใจนี้ได้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว โดย เซอร์ มารีย์ หลุยส์ พรฤกษ์งาม แห่งคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ต ‘ราฟาแอล’ จึงขออนุญาตเซอร์ มารีย์ หลุยส์ ที่นำเนื้อหาบางข้อมาแบ่งปัน ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้ :

     ข้อ 37 . สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนอื่นใดคือ “ความเชื่อที่แสดงออก เป็นการกระทำด้วยความรัก” (กท 5:6) กิจการแห่งความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นการแสดงออกภายนอกที่สมบูรณ์ที่สุดของพระหรรษทานภายในจากองค์พระจิตเจ้า “ปัจจัยหลักของธรรมบัญญัติใหม่ คือ พระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่แสดงออกในความเชื่อและกระทำด้วยความรัก” ท่านนักบุญยืนยันว่าในการกระทำภายนอก ความเมตตากรุณาเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุด ในบรรดาคุณธรรมความดีทั้งหลาย “ความเมตตากรุณาเป็นคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นแกนกลางให้กับคุณธรรมอื่นๆ ยิ่งกว่านั้น ความเมตตากรุณายังเติมในส่วนที่ยังขาดให้กับคุณธรรมอื่นๆด้วย ความเมตตากรุณาจึงนับเป็นคุณธรรมอันสูงส่ง ฉะนั้น ความมีใจเมตตากรุณาจึงเป็นคุณลักษณะเฉพาะของพระเจ้า และโดยทางความเมตตากรุณาของพระองค์นี้เอง ที่สรรพานุภาพของพระองค์ถูกไขแสดงออกอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด

     ข้อ 43.นักบุญโทมัส อไควนัส (St. Thomas Aquinas) ชึ้ให้เห็นว่า คำสั่งสอนที่พระคริสตเจ้าและบรรดาอัครสาวกมอบให้แก่ประชากรของพระเจ้านั้น “มีอยู่ไม่กี่ข้อ” นักบุญโทมัส อไควนัส อ้างคำกล่าวของนักบุญออกัสติน (St.Augustine) ว่า เราต้องใช้คำสอนที่พระศาสนจักรเพิ่มเติมขึ้นมาภายหลังอย่างเหมาะสม เพื่อมิให้เป็นภาระแก่ชีวิตของสัตบุรุษจนทำให้การปฏิบัติศาสนกิจของศาสนาของเรากลายเป็นเหมือนแบบบังคับอย่างทาส ในขณะที่ “พระเมตตากรุณาของพระเจ้าทรงปรารถนาให้ถือศาสนาเป็นแบบอิสระ” คำเตือนนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายศตวรรษก่อน แต่ยังคงใช้ได้ในปัจจุบันนี้ ข้อนี้ต้องเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาสำหรับการปฏิรูปพระศาสนจักรและสำหรับการเทศน์สอนของพระศาสนจักร ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงทุกคนได้อย่างแท้จริง
     ข้อ 44. นอกจากนี้ ทั้งผู้อภิบาลและสัตบุรุษทุกคนที่เดินทางร่วมกับพี่น้องของเขาในความเชื่อ หรืออยู่บนหนทางที่เปิดรับพระเจ้า ย่อมไม่ลืมสิ่งที่หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกกล่าวสอนไว้อย่างชัดเจนมากว่า “ความผิดการใส่ความ และ ความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น สามารถถูกลดหย่อนหรือถูกยกความผิดได้ หากเนื่องมาจากความไม่รู้ ความเลินเล่อ การถูกบังคับ ความกลัว อุปนิสัย ความผูกพันที่เกินเลย รวมทั้งปัจจัยอื่นๆด้านจิตใจ หรือสังคม” ดังนั้น โดยที่มิได้ทำให้พระวรสารลดคุณค่าอุดมคติลง เราจึงต้องเป็นเพื่อนร่วมทางด้วยความเมตตากรุณาและพากเพียรอดทน เพื่อการเจริญเติบโตของบุคคลที่ค่อยๆก่อร่างสร้างขึ้นวันแล้ววันเล่า สำหรับบรรดาพระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอเตือนว่าที่สารภาพบาปไม่ใช่เป็นที่ทรมานคน แต่เป็นสถานที่แห่งความเมตตากรุณาของพระเจ้า ซึ่งจะกระตุ้นเราให้กระทำความดีซึ่งสามารถทำได้ ก้าวเล็กๆที่กระทำในบรรดาข้อจำกัดอันมากมายของมนุษย์ อาจเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ามากกว่าชีวิตของบุคคลที่ภายนอกถูกต้องและใช้ชีวิตโดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาความทุกข์ยากที่ร้ายแรงทุกคน ต้องการความบรรเทาใจและผลของความรักของพระเจ้าที่ช่วยให้รอด ความรักที่ทำงานอย่างเร้นลับในทุกคนและที่มองข้ามความผิดพลาดและความล้มเหลวของมนุษย์
     ข้อ 45. เรามองเห็นได้ว่างานของผู้ประกาศพระวรสาร มีข้อจำกัดด้านภาษาและสภาพแวดล้อม ผู้ประกาศพระวรสารแสวงหาที่จะถ่ายทอดความจริงของพระวรสารให้ดียิ่งขึ้นเสมอในบริบทเฉพาะ โดยยอมรับว่าเขานำความจริง ความดีงาม และแสงสว่างมาให้ได้ แม้เมื่อเขาขาดซึ่งความสมบูรณ์พร้อม หัวใจธรรมทูตตระหนักถึงข้อจำกัดเหล่านี้และกระทำตน “เป็นผู้อ่อนแอเพื่อชนะใจผู้อ่อนแอ... เป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน” (1 คร 9:22) เขาไม่เคยปิดขังตนเอง ไม่เคยเก็บตัวอยู่ในความปลอดภัย ไม่เคยเลือกที่จะป้องกันตนเอง เขารู้ตัวว่าเขาเองต้องเติบโตขึ้นในความข้าใจพระวรสารและในการพิเคราะห์แยกแยะหนทางของพระจิตเจ้า และเมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจะไม่ปฏิเสธความดีที่กระทำได้ แม้เขาต้องเสี่ยงที่จะเปรอะเปื้อนด้วยโคลนในหนทางนั้น
     ข้อ 47. พระศาสนจักรถูกเรียกว่า เป็นบ้านของพระบิดาที่ประตูเปิดอยู่เสมอ เครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งของการเปิดกว้างนี้ก็คือ วัดต้องเปิดประตูเสมอ เพื่อว่าเมื่อบุคคลใดต้องการติดตามแรงบันดาลใจของพระจิตเจ้าและไปที่วัดเพื่อแสวงหาพระเจ้า เขาจะได้ไม่พบกับประตูที่ปิดอยู่ ยังมีประตูอื่นๆก็ต้องไม่ปิดด้วยเช่นกัน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในชีวิตของพระศาสนจักร ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และแม้แต่ประตูแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ก็จะต้องไม่ปิดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เป็น “ประตู” นั้นคือ ศีลล้างบาป ศีลมหาสนิท ที่แม้จะเป็นความสมบูรณ์ของชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มิใช่เป็นรางวัลที่กำหนดไว้สำหรับคนสมบูรณ์แบบเท่านั้น ซีลมหาสนิทเป็นยารักษาที่มีประสิทธิภาพและเป็นอาหารสำหรับคนอ่อนแอ
     ข้อ 49. ข้าพเจ้าไม่ต้องการพระศาสนจักรที่กังวลอยู่กับการเป็นศูนย์กลาง แต่จบลงด้วยการติดกับดักอยู่ในเครือข่ายการครอบงำและกระบวนการขั้นตอนมากมาย หากมีสิ่งใดที่ทำให้มโนธรรมของเราต้องกังวล สิ่งนั้นก็คือความจริงที่เห็นบรรดาพี่น้องของเราจำนวนมากมายที่ดำเนินชีวิตโดยปราศจากพละกำลัง แสงสว่าง และความบรรเทาใจจากพระเยซูคริสตเจ้า ปราศจากชุมชนแห่งความเชื่อที่ต้อนรับเขา ปราศจากความหมายและเป้าหมายของชีวิต แทนที่จะกลัวว่าจะทำผิดพลาด ข้าพเจ้ากลับหวังว่า เราจะเคลื่อนไหวออกไปข้างนอกด้วยความกลัวที่เราจะปิดขังตัวเองอยู่ในโครงสร้างที่ให้ความรู้สึกจอมปลอมว่า ยั่งยืนมั่นคง ที่ปล่อยให้กฎเกณฑ์เปลี่ยนเราให้กลายเป็นผู้พิพากษาที่เข้มงวด ที่ความเคยชินทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ในขณะที่ข้างนอกยังมีฝูงชนที่หิวโหย ที่พระเยซูเจ้าทรงย้ำกับเราอยู่เสมอว่า “ท่านทั้งหลาย จงหาอาหารให้พวกเขากินเถิด” (มก. 6:37)
     ข้อ 54. โดยที่เราไม่รู้ตัว เรากลายเป็นคนที่ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อเสียงร้องที่เจ็บปวดของคนจน เราไม่ร้องไห้เสียใจในความทุกข์ทรมานของผู้อื่นอีกต่อไป การใส่ใจผู้อื่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องสนใจอีกต่อไป ราวกับว่าความรับผิดชอบนี้ไม่ใช่ของเรา วัฒนธรรมการกินดี อยู่ดี ทำให้เราด้านต่อความรู้สึกเหล่านี้ แต่เรากลับรู้สึกตื่นเต้นที่เห็นสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดที่เราต้องไปซื้อ แต่ขณะเดียวกัน เรากลับไม่รู้สึกอะไรเลยกับภาพของผู้คนที่ชีวิตถูกหยุดยั้งการเจริญเติบโตเพราะขาดโอกาสของชีวิต
     ข้อ 55. เราสร้างรูปเคารพขึ้นมาใหม่ การบูชารูปเคารพวัวทองในสมัยโบราณ (เทียบ อพย 32: 1 – 35) ได้กลับมาในรูปแบบใหม่ของการบูชาเงินที่ไร้ความปรานีและเผด็จการทางเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คนและไร้จุดมุ่งหมายด้านมนุษยธรรมอย่างแท้จริง วิกฤติระดับโลกที่ส่งผลต่อการเงินและเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงการขาดความสมดุล และซ้ำร้ายกว่านั้น คือการขาดความห่วงใยในความเป็นมนุษย์ มนุษย์ถูกลดระดับลงเป็นเพียงแค่ข้อเดียวของความจำเป็นของมนุษย์เท่านั้น นั่นคือการบริโภค
     ข้อ 57.จริยธรรมถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ค้านกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีลักษณะเกี่ยวข้องกับวิถีของชีวิตมากเกินไป เพราะเป็นการโยงเงินตราและอำนาจให้สัมพันธ์กัน ชาวโลกมองจริยธรรมเป็นการคุกคาม เพราะจริยธรรมประณามการจัดการแบบมีเล่ห์เหลี่ยมและการลดศักดิ์ศรีของบุคคล เป็นผลให้จริยธรรมนำเราไปหาพระเจ้าองค์หนึ่งที่รอคอยการตอบสนองที่มุ่งมั่นของเรา คำมั่นที่ไม่ใช่แบบชาวโลก หากโลกสามารถถูกจัดระเบียบโดยจริยธรรมเยี่ยงนี้ได้แล้ว ชาวโลกจะตระหนักว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่มิอาจควบคุมได้ มิอาจถูกจัดการได้ แถมเป็นอันตรายกับเขาด้วยซ้ำ เพราะ พระองค์ทรงเรียกมนุษย์สู่ความเป็นอิสระจากการเป็นทาสทุกชนิด จริยธรรมที่มิใช่เป็นเพียงอุดมคติทางจริยธรรม จะช่วยสร้างความสมดุลและระเบียบทางสังคมให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ในความหมายนี้ ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และบรรดาผู้ปกครองประเทศต่างๆ ได้พิจารณาคำกล่าวของนักปราชญ์ในสมัยโบราณที่ว่า “การที่ไม่ให้คนยากจนมีส่วนในทรัพย์สินของท่าน ย่อมเป็นการขโมยและการเอาชีวิตของพวกเขาไป ทรัพย์สินที่ท่านครอบครอง มิใช่เป็นของท่าน แต่เป็นของพวกเขา” (คำกล่าวของนักบุญ John Chrysostom)
     ข้อ 58. การปฏิรูปทางการเงินที่เปิดใจกว้างต่อจริยธรรม เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติอย่างจริงจังของผู้นำทางการเมือง ซึ่งข้าพเจ้าขอให้ผู้นำเหล่านี้เผชิญกับข้อท้าทายนี้อย่างแน่วแน่ และด้วยวิสัยทัศน์สู่อนาคตโดยไม่ละเลยบริบทของแต่ละแห่ง เงินตราต้องรับใช้มนุษย์ มิใช่มาครอบงำมนุษย์ พระสันตะปาปารักทุกคน ทั้งคนรวยและคนยากจน อย่างไรก็ตาม พระองค์มีหน้าที่ในพระนามของพระคริสตเจ้า ที่จะตักเตือนให้คนร่ำรวยต้องช่วยคนยากจน เคารพพวกเขาและสนับสนุนส่งเสริมพวกเขา ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญพวกท่านให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่เห็นแก่ตัว และบริหารเศรษฐกิจและการเงินด้วยจริยธรรมที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทุกคน
     ข้อ 65.พระศาสนจักร เป็นคนกลางที่ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับสันติภาพ ความสมานฉันท์ สิ่งแวดล้อม การปกป้องชีวิต สิทธิมนุษยชน และสิทธิทางการเมือง รวมทั้งความร่วมมือที่สำคัญของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยคาทอลิกทั่วโลก แต่เมื่อเราชี้ประเด็นและถามคำถามที่ไม่รื่นหูของประชามติโลก ก็เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเราที่จะแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เรากระทำเช่นนี้ด้วยความซื่อสัตย์ต่อความเชื่อในศักดิ์ศรีของมนุษย์และความดีส่วนรวม
     ข้อ 102. แม้ฆราวาสจำนวนมากได้มีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมนี้มิได้สะท้อนถึงการนำคุณค่าของคริสตศาสนาสู่โลกให้ลึกซึ้งขึ้น ทั้งด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ กิจการของเขามักถูกจำกัดอยู่เฉพาะงานภายในของพระศาสนจักรที่ปราศจากการนำพระวรสารไปปฏิบัติอย่างแท้จริง เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังนั้น การอบรมบรรดาฆราวาสและการประกาศพระวรสารโดยกลุ่มวิชาชีพและปัญญาชน จึงเป็นข้อท้าทายงานอภิบาลที่สำคัญ
     ข้อ 119. ในผู้รับศีลล้างบาปทุกคนตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย มีพระพรของพระจิตเจ้าทำงานในตัวเขากระตุ้นให้เขาประกาศพระวรสาร ประชากรของพระเจ้าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องมาจากการถูกเจิมในศีลล้างบาปนี้ซึ่งทำให้เขาไม่หลงผิดในความเชื่อ หมายความว่า เมื่อเขาเชื่อ เขาจะไม่หลงผิดแม้ว่าเขาจะไม่มีคำพูดที่อธิบายถึงความเชื่อของเขา พระจิตเจ้าจะทรงนำเขาในความจริง และทรงนำไปสู่ความรอด ส่วนหนึ่งของธรรมล้ำลึกแห่งความรักสำหรับมนุษยชาติของพระเจ้าก็คือ สัญชาติญาณแห่งความเชื่อที่พระองค์ประทานแก่สัตบุรุษทุกคน ซึ่งจะช่วยให้เขาพิเคราะห์แยกแยะว่าสิ่งใดมาจากพระเจ้าอย่างแท้จริง การประทับอยู่ของพระจิตเจ้านำคริสตชนให้สำนึกโดยธรรมชาติถึงความเป็นจริงของพระเจ้า และทรงประทานปรีชาญาณให้เพื่อทำให้เข้าใจถึงความเป็นจริงด้วยสามัญสำนึก แม้เขาเองก็ไม่สามารถที่จะพูดออกมาให้ชัดเจนได้อย่างไร
     ข้อ 120. การประกาศพระวรสารครั้งใหม่ เรียกร้องส่วนร่วมการกระทำของผู้รับศีลล้างบาปแต่ละคน คริสตชนทุกคนถูกท้าทายที่นี่และเดี๋ยวนี้ให้ประกาศพระวรสารอย่างขยันขันแข็ง จริงๆแล้วหากเขามีประสบการณ์ความรักที่ช่วยให้รอดของพระเจ้าอย่างแท้จริง เขาก็ไม่ต้องการเวลามากมายในการเตรียมตัวเพื่อออกไปประกาศความรักนี้ คริสตชนทุกคนเป็นธรรมทูตก็ต่อเมื่อเขาได้รับความรักของพระเจ้าในพระเยซูคริสตเจ้า เราจะไม่พูดอีกต่อไปว่าเราเป็น “สานุศิษย์” และ “ธรรมทูต” แต่เราเป็น “สานุศิษย์ธรรมทูต” อยู่เสมอ หากเราไม่แน่ใจในชื่อนี้ ในพันธกิจนี้ ให้เรามองดูสานุศิษย์รุ่นแรกๆ หลังจากได้สบสายพระเนตรของพระเยซูเจ้า ในทันทีพวกเขาก็ไปประกาศด้วยความชื่นชมยินดี “เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว” (ยน 1:41)
     ข้อ 124. คริสตชนจำนวนมากแสดงออกถึงความเชื่อโดยอาศัยความศรัทธาของท้องถิ่น บรรดาพระสังฆราชเรียกความศรัทธานี้ว่า จิตตารมณ์ท้องถิ่น (popular spirituality) หรือ ศรัทธาประชาชน (the people’s mysticism) ซึ่งเป็นจิตตารมณ์ที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของผู้คนสามัญทั่วไป ความศรัทธานี้มิใช่ว่าปราศจากเนื้อหาสาระ แต่แสดงออกถึงเนื้อหาในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์มากกว่าการใช้เหตุผล และเป็นการเน้นถึงความเชื่อในพระเจ้า (credere in Deum) เป็นวิธีการชอบธรรมในการดำเนินชีวิตในความเชื่อ เป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรและเป็นหนทางในการเป็นธรรมทูต ความศรัทธานี้มีพระหรรษทานแห่งพันธกิจการออกจากตนเองและการเป็นผู้จาริก การเดินทางร่วมกันไปยังสักการสถานและการมีส่วนร่วมในการแสดงความศรัทธาท้องถิ่น โดยการนำเด็กๆมาด้วย หรือเชิญชวนคนอื่นๆให้มาร่วมนั้น เป็นการประกาศพระวรสารไปในตัวอยู่แล้ว จงอย่าให้พลังธรรมทูตนี้แคระแกร็นด้วยการควบคุม ด้วยการไม่ยอมหายใจของเรา
     ข้อ 129. ด้วยเหตุนี้ หากพระวรสารก่อกำเนิดในวัฒนธรรมหนึ่ง พระวรสารจึงต้องสื่อสารมิใช่โดยการประกาศจากบุคคลไปสู่บุคคลเท่านั้น สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ ในประเทศที่คริสต์ศาสนาเป็นชนกลุ่มน้อยเรายิ่งต้องกระตุ้นผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแต่ละคนให้ประกาศพระวรสาร พระศาสนจักรท้องถิ่นต้องพัฒนารูปแบบ อย่างน้อยก็โดยการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม และต้องมุ่งไปสู่การเทศน์สอนพระวรสารซึ่งมีรูปแบบเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมที่พระวรสารนั้นได้รับการประกาศ และก่อให้เกิดการผสมผสานหยั่งรากใหม่และเข้ากับวัฒนธรรมนั้น กระบวนการนี้มักเป็นไปอย่างช้าๆ และบางครั้งเราหวาดกลัวเกินไปจนทำให้เราไม่กล้า หากเราปล่อยให้ความสงสัยและความกลัวมาบั่นทอนความกล้าหาญ แทนที่เราจะคิดสร้างสรรค์เรากลับอยู่แบบสบายๆไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็มิได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการที่ถือว่าสำคัญในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร แต่เรากลับเป็นเพียงผู้ชม มองดูพระศาสนจักรที่ค่อยๆถดถอยลง
      ข้อ 142. การเสวนาเป็นมากกว่าการสื่อสารความจริง การเสวนาเกิดขึ้นท่ามกลางความยินดีของการสนทนา การเสวนาทำให้ชีวิตของคู่สนทนารุ่มรวยขึ้นด้วยความรักที่ให้แก่กัน โดยใช้คำพูดเป็นสื่อ ความรุ่มรวยนี้มิใช่อยู่ในสิ่งของ แต่อยู่ในบุคคลที่มอบตนเองให้แก่กันและกันในการสนทนา บทเทศน์ที่มีลักษณะติเตียนด้านศีลธรรมและยัดเยียดข้อความเชื่อ หรือบทเทศน์ที่กลายเป็นหลักสูตรการอธิบายพระคัมภีร์ ก็จะเป็นการลดการสื่อสารระหว่างจิตใจที่เกิดขึ้นในการเทศน์นั้น บทเทศน์ต้องมีคุณลักษณะของศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย “ความเชื่อจึงมาจากการฟัง สิ่งที่ได้ฟังก็มาจากพระวาจาของพระคริสตเจ้า” (รม 10:17)
     ข้อ 152. วิธีการที่เป็นรูปธรรม เพื่อฟังสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการบอกแก่เราในพระวาจาของพระองค์ และเพื่อให้พระจิตเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงเรา คือวิธีที่เราเรียกว่า Lectio Divina ซึ่งเป็นการอ่านพระวาจาของพระเจ้าในช่วงเวลาการภาวนา เพื่อให้พระวาจานั้นส่องสว่างเราและฟื้นฟูเราขึ้นใหม่ การอ่านรำพึงพระคัมภีร์นี้มิได้แยกออกจากการศึกษาที่ผู้เทศน์ต้องการกระทำเพื่อค้นหาสาระสำคัญของตัวบทพระคัมภีร์ ตรงกันข้าม ผู้เทศน์ต้องเริ่มจากการศึกษาแล้วค่อยภาวนารำพึง เพื่อค้นให้พบสิ่งที่สารนี้ต้องการบอกแก่ชีวิตของเขา การอ่านพระคัมภีร์ต้องเริ่มจากความหมายตามตัวอักษร มิเช่นนั้น จะเป็นการง่ายที่จะตีความถึงตัวบท ให้ตรงกับที่เขาคิด หรือใช้ยืนยันการตัดสินใจของเขา หรือให้ตรงกับแนวความคิดของเขา ผลสุดท้ายก็จะเป็นการใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว และยื่นความสับสนของการตีความพระคัมภีร์ไปยังประชากรของพระเจ้า เราต้องไม่ลืมว่า บางครั้ง “ซาตานยังปลอมเป็นทูตแห่งแสงสว่างได้” (2 คร.11:14)
     ข้อ 205. ข้าพเจ้าวอนขอพระเจ้า โปรดให้มีนักการเมืองที่สามารถเข้าสู่การเสวนาที่แท้จริงได้มากขึ้น ซึ่งมุ่งไปสู่การรักษารากลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่เพียงความชั่วร้ายที่ปรากฏให้เห็นในโลกเราเท่านั้น การเมืองแม้ถูกกล่าวหาบ่อยครั้งว่าไร้คุณธรรม ก็ยังถือว่าเป็นกระแสเรียกที่สูงส่ง การเมืองยังเป็นหนึ่งในรูปแบบเมตตาธรรมอันทรงคุณค่าสูงส่งประการหนึ่ง เพราะเป็นการแสวงหาความดีส่วนรวม เราต้องมั่นใจว่าเมตตาธรรม “เสาหลักเอกที่มิใช่ความสัมพันธ์ระดับจุลภาค (คือความสัมพันธ์ฉันมิตรในครอบครัว ในกลุ่มเล็กๆ) เท่านั้น แต่ต้องเป็นความสัมพันธ์ระดับมหภาค (คือความสัมพันธ์ระดับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง)” ข้าพเจ้าวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานนักการเมืองที่ห่วงใยจริงใจต่อสังคม ประชาชน และ ชีวิตของคนยากจน เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้นำรัฐบาลและผู้นำอำนาจการคลังที่จะต้องสอดส่องและขยายพันธกิจของตนให้กว้างขึ้น เพื่อให้พลเมืองมีงานทำที่สมศักดิ์ศรี ได้รับการศึกษาและความช่วยเหลือด้านสุขอนามัย แล้วทำไมเราจึงไม่ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเล่า เพื่อให้พระองค์ดลใจแผนงานของพวกเขา ข้าพเจ้ามั่นใจว่าการเปิดใจรับสิ่งเหนือธรรมชาติจะก่อให้เกิดความคิดใหม่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้ก้าวข้ามกำแพงการแบ่งแยกระหว่างเศรษฐกิจและความดีส่วนรวมของสังคม
     ข้อ 235. ภาพรวมเป็นสิ่งที่มากกว่าส่วนใดส่วนหนึ่งและมากกว่าผลรวมของทุกส่วนด้วย ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับคำถามที่จำกัดและเฉพาะเท่านั้น จำเป็นที่เราต้องขยายวิสัยทัศน์ให้กว้างออกไป เพื่อมองดูสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าแก่ทุกคน อย่างไรก็ตาม เป็นการเหมาะสมที่จะกระทำโดยไม่หลีกหนีหรือขุดรากถอนโคนตนเอง จำเป็นต้องให้รากของตนหยั่งรากลึกในผืนดินที่อุดมสมบูรณ์และในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองซึ่งเป็นพระพรของพระเจ้า เราทำงานบนสิ่งที่เล็กน้อยกับสิ่งที่ใกล้ชิด แต่ในมิติที่กว้างมากขึ้น ในทำนองเดียวกัน เมื่อบุคคลหนึ่งเลือกดำเนินชีวิตในกลุ่มชุมชนหรือในคณะด้วยความเต็มใจ เขาก็ไม่สูญเสียลักษณะเฉพาะส่วนตัวของเขา และมิได้ซ่อนอัตลักษณ์ของตน แต่กลับกันเขาจะได้รับแรงกระตุ้นใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง ขอบเขตระดับโลกก็จะไม่ถูกหยุดยั้งการเจริญเติบโต และระดับท้องถิ่นก็มิใช่ว่าจะไม่บังเกิดผล
     ข้อ 276. การกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์มิได้เป็นเหตุการณ์ในอดีต แต่มีพลังชีวิตที่ซึมซาบอยู่ในโลก ณ ที่ซึ่งทุกสิ่งดูเหมือนตายแล้ว ต้นอ่อนแห่งการกลับคืนชีพกลับค่อยๆปรากฏขึ้นอีกครั้ง เป็นพลังที่ไม่มีใครหยุดห้ามปรามได้ บ่อยครั้งเรารู้สึกเหมือนพระเจ้าไม่ปรากฎอยู่รอบตัวเรา เรามองเห็นความอยุติธรรม ความเลวร้าย ความเฉยเมย และความทารุณยังปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็เป็นจริงที่ว่า ท่ามกลางความมืดมนนั้นมีสิ่งใหม่เริ่มต้นงอกขึ้นเสมอ ซึ่งไม่ช้าก็เร็วจะก่อให้เกิดผลบนผืนนาที่ไถราบเรียบ จะมีชีวิตผุดขึ้นมาอย่างพากเพียรโดยไม่มีใครไปหยุดมันได้ ไม่ว่าสถานการณ์จะมืดมนประการใดก็ตาม ความดีจะเบ่งบานและแผ่กระจายออกไปอยู่เสมอ ในทุกๆวัน ความงามเกิดขึ้นใหม่ในโลก กลับคืนชีพและฟื้นฟูโดยมรสุมที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ คุณค่ามักปรากฏขึ้นอีกครั้งเสมอในรูปแบบใหม่ๆ และมนุษย์จึงลุกขึ้นใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่าจากเหตุการณ์ที่ดูเหมือนหมดความหวังแล้ว และนี่คือพลังอำนาจแห่งการกลับคืนชีพ และผู้ประกาศพระวรสารทุกคนเป็นเครื่องมือของพลังอำนาจนี้
(หมายเหตุ : ท่านสามารถหาซื้อหนังสือพระสมณสาสน์ Evangelii Gaudium ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร ได้ที่สื่อมวลชนคาทอลิก โบสถ์อัสสัมชัญ บางรัก กทม.)
(ที่มา : หัวข้อ ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร จาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส, จากหนังสือ ราฟาแอล, 2015 ชีวิตเริงร่า, กรุงเทพฯ, 2014, หน้า 97 – 107)

ศึกษาพระคัมภีร์

Catholic bible

ค้นหา

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

bkk2020

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

เรื่องมาตรการและแนวทางภาคปฏิบัติ

เพื่อการเข้าร่วมพิธีกรรมของคริสตศาสนิกชนคาทอลิก

แรงจูงใจในการประกาศพระวรสาร

 

บทความดีดี