1 คำว่า “ฆราวาส” หมายถึงผู้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้าทุกคน ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่ได้รับศีลบวชหรืออยู่ในสถานะชีวิตนักบวชที่พระศาสนจักรรับรองแล้ว เมื่อได้รับศีลล้างบาป สัตบุรุษเหล่านี้ได้ร่วมเป็นกายหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าและประกอบขึ้นเป็นประชากรของพระ จึงมีส่วนร่วมในพระกรณียกิจของพระคริสตเจ้าในฐานะสงฆ์ ประกาศกและกษัตริย์ โดยวิธีต่างๆทำหน้าที่คริสตชนทั้งสิ้น ตามส่วนของตนทั้งในพระศาสนจักรและในโลก (พระธรรมนูญเรื่องพระศาสนจักร ข้อ 31)
2 กิจการแพร่ธรรมของฆราวาสเป็นการร่วมภารกิจของพระศาสนจักรในการช่วยมนุษย์ให้รอด อาศัยศีลล้างบาปและศีลกำลัง ทุกคนล้วนได้รับมอบหมายจากองค์พระคริสตเจ้าเองให้ทำงานแพร่ธรรม ยิ่งกว่านั้นอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลมหาสนิท เราได้รับและหล่อเลี้ยงความรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์อันเป็นชีวิตจิตใจของการแพร่ธรรมทั้งสิ้น ฆราวาสได้รับเรียกเป็นพิเศษเพื่อทำให้พระศาสนจักรปรากฏอยู่ ปฏิบัติงานในสถานที่และสถานการณ์ฆราวาสเท่านั้น ที่พระศาสนจักรจะแสดงตนเป็นเกลือของแผ่นดินได้ ดังนี้ฆราวาสทุกคนด้วยเหตุที่ได้รับพระคุณนั้นเอง “จึงเป็นพยานยืนยันถึงภารกิจที่พระศาสนจักรได้รับมอบหมายมา อีกทั้งยังเป็นเครื่องมืออันมีชีวิตปฏิบัติภารกิจนั้นให้สำเร็จไปตามขนาดที่พระคริสตเจ้าประทานให้” (อฟ.4:7)
นอกจากงานแพร่ธรรมซึ่งเป็นของคริสตชนทุกคนโดยตรงนี้ ฆราวาสอาจได้รับเรียกในแบบต่างๆกันให้เข้าร่วมมือกับงานแพร่ธรรมของทางฝ่ายผู้ปกครองพระศาสนจักร เช่นเดียวกับที่บุรุษและสตรีบางคนได้ช่วยนักบุญเปาโลอัครธรรมทูตในการประกาศข่าวดีและทำงานเป็นอันมากเพื่อพระเจ้า (ฟป.4:3) (รม.16:3…) ……..ดังนั้นฆราวาสจึงมีหน้าที่อันสูงส่งที่จะต้องออกกำลังยิ่งๆขึ้นให้แผนการของพระที่จะประทานความรอดได้แผ่คลุมออกไปยิ่งๆขึ้นถึงมวลมนุษย์ทุกสมัยและทุกหนแห่งในโลก เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรจะให้ฆราวาสมีโอกาสทุกทาง ที่จะได้มีส่วนร่วมงานไถ่กู้ของพระศาสนจักรอย่างจริงจัง ตามความสามารถของเขาและตามความต้องการของกาลสมัย (พระธรรมนูญเรื่องพระศาสนจักร ข้อ 33)
3. แท้ที่จริง การแพร่ธรรมของฆราวาสนั้นจะไม่มีวันเกิดขาดแคลนขึ้นในพระศาสนจักร เพราะเป็นผลอันเกิดขึ้นจากการที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกเขามาเป็นคริสตชนนั้นเอง พระคัมภีร์ก็แสดงให้เราเห็นอย่างแจ่มชัดว่า การแพร่ธรรมของฆราวาสได้ปรากฎขึ้นมาเองตั้งแต่ระยะแรก ๆ ที่พระศาสนจักรอุบัติขึ้น และการแพร่ธรรมนั้นได้เกิดผลดีสักเพียงใด (ดู กจ.๑๑:๑๙–๒๑ ,๑๘:๒๖ ,รม.๑๖ : ๑–๑๖ , ฟป.๔ : ๓) (สมณกฤษฎีกาว่าด้วยการแพร่ธรรมของฆราวาส ข้อ 1)
4. ฆราวาสมีโอกาสมากมายที่จะทำการแพร่ธรรม ด้วยการประกาศข่าวดีและทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ไป แม้แต่การบำเพ็ญชีวิตแบบคริสตชนและกิจการต่างๆ ที่กระทำโดยมีจิตตารมณ์เหนือธรรมชาติ ก็มีอำนาจมากที่จะชักจูงมนุษย์ให้มาสู่ความเชื่อ และมาหาพระเป็นเจ้า เพราะพระคริสตเจ้าตรัสว่า “ให้ความสว่างของท่านส่องแสงต่อหน้ามนุษย์ เพื่อให้เขาเห็นกิจการดีของท่าน แล้วสรรเสริญพระบิดาของท่านซึ่งอยู่ในสวรรค์” (มธ.๕:๑๖) อย่างไรก็ดี การแพร่ธรรมแบบนี้ไม่ใช่อยู่ที่การดำรงชีวิตเป็นแบบฉบับดีอย่างเดียว ผู้แพร่ธรรมที่แท้จริงต้องหาโอกาสที่จะใช้คำพูดประกาศพระคริสตเจ้าแก่ผู้ที่ยังไม่เชื่อ เพื่อช่วยนำเขาให้มาสู่ความเชื่อ หรือประกาศแก่สัตบุรุษเพื่อสอนเขาให้รู้ เตือนเขาให้มั่นคงและกระตุ้นเขาให้ถือชีวิตที่ร้อนรนยิ่งขึ้น “เพราะความรักต่อพระคริสตเจ้าเร่งเร้าใจเรา” (๒ คร.๕:๑๔) วาทะของนักบุญเปาโลที่ว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้า หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี” (๑ คร.๙:๑๖) ควรจะดังก้องอยู่ในใจของทุกคน
ในสมัยนี้ ที่เกิดปัญหาใหม่และความลุ่มหลงอย่างฉกรรจ์ ที่กำลังแผ่ขยายออกไป โดยมุ่งจะโค่นศาสนา ระเบียบศีลธรรม แม้กระทั่งสังคมของมนุษย์อย่างถอนรากถอนโคนนั้น สภาสังคายนาขอรบเร้าเตือนฆราวาสทั้งหลาย ตามที่แต่ละคนมีคุณวุฒิและความรู้ ให้มีส่วนอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นในการอธิบายและป้องกันหลักการของพระคริสตธรรม ตลอดจนในการนำหลักการนั้นมาใช้กับปัญหาต่างๆ ในสมัยเรา ตามเจตนารมณ์ของพระศาสนจักร(สมณกฤษฎีกาว่าด้วยการแพร่ธรรมของฆราวาส ข้อ 6)
ที่มา : เอกสารกระบวนการฟื้นฟูชุมชนศิษย์พระคริสต์ เดือนเมษายน 2014