Get Adobe Flash player

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานฯ

 imageedit 1 6373507384

บาทหลวงปิยะชาติ   มะกรครรภ์

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูต

อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

Facebook


banner face holych Custombanner_face_pmg_Custom.pngPresentation2 Custom

งานอื่นๆของฝ่าย

Slide6 CustomSlide5 Custom

เวลา

glowingcross1
     ความเชื่อสำคัญของคริสตชนคาทอลิกเรามีศูนย์รวมอยู่ที่การเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่ แต่ศาสนาคริสต์เป็นมากกว่าชุดความเชื่อ นั่นคือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ความเชื่อแบบคริสตชนต้องส่งผลเป็นการใช้ชีวิตรักและรับใช้ผู้อื่น มิฉะนั้นมันจะเป็นความเชื่อที่ไม่จริงใจและเปล่าประโยชน์ หลักธรรมของคริสตชนช่วยให้เราค้นพบว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไรให้เป็นไปตามพระวจนะของพระเจ้า ดังที่พระเยซูเจ้าและพระศาสนจักรเปิดเผยแก่เรา
หลักธรรมของคริสตชนคืออะไร? CCC 1731-1738

     หลักธรรมของคริสตชนถูกสรุปได้ด้วยคำๆ หนึ่งคือคำว่า“ความรับผิดชอบ” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “responsibility”มาจากการผสมของคำในภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ response =การตอบสนอง และ ability = ความสามารถหรือเสรีภาพในการเลือกกระทำหรือไม่กระทำ แล้วเราต้องตอบสนองต่ออะไร ชีวิตคริสตชนต้องเป็นการตอบสนองต่อความรักที่พระเป็นเจ้าทรงมอบให้เราอย่างไม่มีเงื่อนไขและต่อการช่วยให้รอดพ้น ซึ่งเป็นของขวัญที่ทรงมอบให้เราโดยทางพระเยซูคริสต์ “การติดตามพระเยซูเจ้าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และเป็นพื้นฐานของหลักธรรมสำหรับคริสตชนตั้งแต่ยุคแรก”(พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2, The Splendor of Truth, 19)หลักธรรมของคริสตชนต้องมาเป็นลำดับแรกเมื่อผู้คนตอบรับพระเป็นเจ้า เมื่อพวกเขาตอบสนองความรักของพระองค์อย่างเสรี สาระสำคัญของหลักธรรมสำหรับคริสตชนก็คือ “ความรัก” นั่นเอง
     “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน นี่คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มธ. 22:37-39)
     แง่คิดที่สองในหลักธรรมของคริสตชน ก็คือการมีเสรีภาพที่จะตอบรับพระเป็นเจ้า ซึ่งหมายถึงเสรีภาพที่จะรักและรับใช้พระเจ้า และนี่ยังเป็นของขวัญอีกประการหนึ่งที่พระเป็นเจ้าทรงมอบให้เรา เพราะมันเป็นส่วนของสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีพื้นฐานซึ่งเกิดจากการที่เขาถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า (ด้วยวิญญาณหนึ่ง)นั่นหมายความว่าเราสามารถคิดและรัก พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างในสังคม มโนธรรมของเราช่วยเหลือเราในการดำรงชีวิตเพื่อพระเป็นเจ้าและบุคคลอื่น
พันธสัญญาคืออะไร? (CCC 54-67)
     เมื่อเราไตร่ตรองดูชีวิตคริสตชนว่าเป็นดั่งการตอบรับคำเชื้อเชิญของพระเป็นเจ้าให้มามีชีวิตชีวาและรักผู้อื่น นั่นคือเรากำลังให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ตามพระสัญญาระหว่างพระเป็นเจ้ากับลูกๆของพระองค์
     พันธสัญญาเป็นคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นที่สุดที่สามารถเป็นไปได้ระหว่างบุคคลสองฝ่ายที่มีชนชั้นต่างกัน ซึ่งมีข้อผูกมัดต่อกันอยู่บ้าง หนังสือพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเปิดเผยให้รู้ว่าพระยาเวห์ผู้ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำพันธสัญญามากมายกับมนุษย์โดยทั่วไป และเป็นพิเศษกับประชาชนชาวยิว ในพันธสัญญาเหล่านั้น พระยาเวห์ทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญาที่ทรงให้ไว้เสมอ ในทางกลับกันพระองค์ก็มีพระประสงค์ให้ประชากรของพระองค์ซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญานั้นด้วย สำหรับชาวยิว การซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาหมายถึงการนำเอาหนังสือโตราห์(Torah)หรือธรรมบัญญัติ(law) มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตซึ่งถือเป็นการตอบรับพระเจ้า ธรรมบัญญัติซึ่งถูกสรุปไว้ในบทบัญญัติ 10 ประการที่พระเป็นเจ้าทรงแสดงแก่โมเสสไม่ใช่ข้อผูกมัดอันเป็นภาระที่ชาวยิวเลือกเอามาปฏิบัติได้ตามใจ แต่เป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นลักษณะเฉพาะอย่างยิ่งซึ่งพระเป็นเจ้าทรงมอบให้ประชาชนชาวยิว

พันธสัญญาในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่คืออะไร? (CCC 1718-1724)
     พันธสัญญาที่สำคัญที่สุดในบรรดาพันธสัญญาทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำต่อมนุษย์ ก็คือ พันธสัญญาด้วยความรักที่พระเจ้าทรงกระทำผ่านทางพระเยซูเจ้าพระบุตรของพระองค์ พันธสัญญาในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่คือ หลักประกันที่เกิดขึ้นด้วยพระโลหิตของพระคริสต์เอง ความตายและการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเป็นสิ่งที่รับรองความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดา คริสตชนทั่วไปดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาโดยการยอมรับความรักของพระเจ้าในองค์พระเยซูคริสต์ และตอบรับพระองค์ได้โดยการปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาคริสต์ ซึ่งหมายถึง บทบัญญัติ 10 ประการ(The Ten Commandments) และบทเทศน์บนภูเขา(The Sermon on the Mount) ที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนโดยถูกบรรยายไว้อย่างรวบรัดในเรื่องความสุขแท้ 8 ประการ (Beatitudes)
     หลักธรรมของศาสนาคริสต์ ประกอบด้วยการดำเนินชีวิตติดตามพระเยซูเจ้า การละทิ้งตนเองเพื่อพระองค์ การน้อมรับพระสิริมงคลขององค์พระผู้เป็นเจ้าเข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวเองและการฟื้นฟูชีวิตโดยอาศัยพระพรนานาประการจากพระเมตตาของพระองค์ที่ประทานแก่เราผ่านการใช้ชีวิตร่วมกันในพระศาสนจักรของพระองค์.....บุคคลที่รักองค์พระคริสตเจ้า ก็จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์(อ้างอิง ยน. 14:15)
The Splendor of Truth, ข้อ119


บทบัญญัติ 10 ประการ (The Ten Commandments) คืออะไร? (CCC 2052-2082)
บทบัญญัติ 10 ประการ ถูกค้นพบในหนังสืออพยพ บทที่ 20 ข้อ 2-17 และหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 5 ข้อ 6-21
1. เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน ท่านต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากเรา
2. อย่าออกพระนามพระเจ้าของท่านอย่างไม่สมควร
3. อย่าลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์
4. จงนับถือบิดามารดา
5. อย่าฆ่าคน
6. อย่าผิดประเวณี
7. อย่าลักขโมย
8. อย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น
9. อย่าปลงใจผิดประเวณี
10. อย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น

     “เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน ท่านต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากเรา” บทบัญญัติประการที่ 1จัดว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับชีวิตคริสตชน การปฏิบัติและแสดงความรู้สึกต่อพระเจ้าแบบตรงไปตรงมาซึ่งนำไปสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าตลอดนิรันดร ต้องเป็นหัวใจและเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต การประจญล่อลวงมักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอในรูปของสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรา เงินทอง, อำนาจ, การได้ครอบครองเป็นเจ้าของ และความสุขสบาย ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อเราได้มันมาหรือประสบผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้ เราก็มักจะหลงลืมผู้ที่สร้างมันมา และนั่นเป็นเหตุให้เรากลายเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า
     เราเคารพต่อบทบัญญัติประการที่ 1 เมื่อเรายอมรับอย่างสำนึกในบุญคุณ, นมัสการ และขอบคุณผู้เป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต นั่นคือพระเจ้าผู้ทรงสร้างเราด้วยความรัก บทบัญญัติประการนี้เรียกร้องให้เราเชื่อและหวังในพระเจ้า และรักพระองค์เหนือทุกสิ่ง
    บทบัญญัติประการที่ 1 นี้ห้ามการเคารพรูปบูชาในทุกรูปแบบ, การเชื่อไสยศาสตร์. โหราศาสตร์, การทำนายโชคชะตาหรือ การนับถือลัทธิเชื่อผี
     “อย่าออกพระนามพระเจ้าของท่านอย่างไม่สมควร” บทบัญญัติประการที่ 2 เน้นความจำเป็นที่เราต้องเคารพพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า และปฏิบัติกิจทางศาสนาของเราอย่างสุภาพ คริสตชนต้องระลึกเสมอว่าสิ่งที่เราเอ่ยออกไป จะสะท้อนว่าเราเป็นใคร บางสิ่งบางอย่างมีความศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงพระนามของพระเจ้า ดังนั้นการใช้ภาษาและทัศนคติของเราที่มีต่อศาสนาจึงควรเป็นไปด้วยความเคารพ การแช่งด่า การวอนขอให้พระเป็นเจ้าลงโทษหรือทำร้ายผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่ผิด การสบประมาทอันหมายถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงดูถูกหรือขาดความเคารพต่อพระเจ้า และการกล่าวสาบานเท็จโดยอ้างพระนามของพระเจ้า ล้วนแล้วแต่เป็นการผิดต่อบทบัญญัติประการที่สอง
     “อย่าลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์” ความจงรักภักดีต่อพระเจ้า เรียกร้องให้เราสักการะและเคารพบูชาพระเจ้าในชุมชนร่วมกับผู้อื่น ความรอดพ้นจากบาปของเราไม่ใช่สิ่งที่เราได้มาด้วยความพยายามตามลำพัง คาทอลิกได้รับคำสั่งของพระเยซูเจ้าให้ประกอบพิธีหักปัง(มิสซา) ในพระนามของพระองค์ เรารวมกลุ่มกันอาทิตย์ละครั้งเพื่อร่วมกันนมัสการพระเจ้า และในวันนั้นเราจะหยุดภาระหน้าที่อื่นๆของเราเพื่อพักผ่อน สวดภาวนาและรำพึงไตร่ตรอง คริสตชนคาทอลิกนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ เพื่อระลึกถึงการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า หลายคนจัดพิธีของวันอาทิตย์ตั้งแต่เย็นวันเสาร์ เนื่องจากเวลาทางพิธีกรรมเริ่มต้นและสิ้นสุดด้วยเวลาพระอาทิตย์ตก คริสตชนคาทอลิกถูกกระตุ้นเตือนให้เคารพวันพระเจ้าโดยละเว้นการทำงานที่ไม่จำเป็นในวันนั้น ใช้เวลากับคนที่รัก และมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อื่นๆ
     “จงนับถือบิดามารดา” พันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับคริสตชนถูกสะท้อนให้เห็นโดยครอบครัว พระเจ้าทรงรักลูกๆ ของพระองค์อย่างไร บิดามารดาที่เป็นมนุษย์ควรรักและดูแลลูกของตนอย่างนั้น ส่วนผู้ที่เป็นบุตรก็ควรเคารพ เชื่อฟัง มีความสุภาพและความกตัญญูต่อบิดามารดา นอกจากนั้น ผู้เป็นพี่น้องกันทั้งชายและหญิงก็ต้องมีความอดทน ปรองดอง และให้ความเคารพกัน เพื่อให้ครอบครัวสามารถเป็นชุมชนหนึ่งที่มีความรักเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บทบัญญัติประการนี้ยังมีความหมายโดยนัยถึงถึงสังคมที่กว้างออกไปด้วย นั่นคืออำนาจใดๆที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อฟังและให้ความเคารพ เนื่องจากอำนาจทั้งมวลล้วนมาจากพระเจ้า บรรดาผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าผู้อื่นจึงมีหน้าที่ใช้อำนาจของตนด้วยความเมตตาและความอ่อนน้อมถ่อมตน
     “อย่าฆ่าคน” ชีวิตเป็นของขวัญที่พระเป็นเจ้าประทานให้กับเรา และบทบัญญัติประการที่ห้านี้เน้นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต โดยกล่าวโทษทุกสิ่งที่ทำลายชีวิต (ตัวอย่างเช่น การฆาตกรรม, การฆ่าตัวตาย หรือการค้ายา) ความสำคัญของบทบัญญัติประการที่ห้ารวมเอาเรื่องการดูแลตัวเองไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจและวิญญาณ คริสตชนยังต้องสนใจเกี่ยวกับการปกป้องดูแลชีวิตของผู้อื่นด้วยเช่นกัน พระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความรักของพระเป็นเจ้าที่แผ่ไปถึงผู้อ่อนแอและช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ดังนั้น คริสตชนจึงควรทำแต่สิ่งที่มุ่งหวังความสงบสุข, ความยุติธรรม และชีวิต โดยการต่อต้านสงคราม, ความยากจน, ความลำเอียง, การทำแท้ง, การทำการุณยฆาต และความอยุติธรรมอื่นๆ ในสังคม
     “อย่าผิดประเวณี” การแต่งงานของคริสตชนเป็นเครื่องหมายที่ทรงพลังของความรักที่มีสัญญาต่อกัน ความไม่ซื่อสัตย์ส่งผลร้ายต่อความรักนั้นและคุกคามเพื่อจะทำลายสัญญา บทบัญญัติประการที่หกเรียกร้องเราให้คำนึงถึงพลังการให้กำเนิดด้วยสิ่งที่พระเป็นเจ้าได้ทรงอวยพรเราไว้ ความรักระหว่างชายหญิงเป็นส่วนหนึ่งในลักษณะนิสัยชอบสร้างสรรค์ของพระเจ้าเอง พฤติกรรมที่เอาเปรียบผู้อื่นหรือหมกมุ่นอยู่กับความต้องการอย่างเห็นแก่ตัว บิดเบือนเจตนาของพระเจ้าในการสร้างมนุษย์ (ดูข้อมูลเพิ่มเรื่อง วิธีการเข้าถึงจุดหมายกิจกรรมทางเพศของคริสตชน ในบทที่ 16)
     “อย่าลักขโมย” การขโมยในทุกรูปแบบทำลายความเชื่อใจ การขโมยเป็นการทำลายข้อผูกมัดของมนุษย์ที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและสามัคคีกัน บทบัญญัติประการที่เจ็ดยังห้ามการโกงและการใช้สิ่งแวดล้อมในทางที่ผิด บทบัญญัติเตือนเราให้แบ่งปันสิ่งที่เรามีมากเกินความจำเป็นให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน การไม่แบ่งปันสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้กับผู้ที่ขาดแคลนถือเป็นความผิดต่อความรักอย่างร้ายแรง
     “อย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น” การเป็นคนซื่อสัตย์คือ การเป็นพยานให้กับความจริง การพูดโกหก, การพูดเพื่อแก้แค้น, การนินทา, การทำเรื่องอื้อฉาว, การพูดให้เสื่อมเสีย (การนำความผิดของผู้อื่นมาเปิดเผยโดยไม่จำเป็น) และการเป็นพยานเท็จ ล้วนทำลายความรักที่เป็นตัวเชื่อมสังคมมนุษย์ และเป็นการละเมิดบทบัญญัติประการนี้
     “อย่าปลงใจผิดประเวณี” “อย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น” บ่อยครั้งที่ความอยากได้เป็นผลมาจากตัณหา, การทำตามใจตนเอง, ความอิจฉา, หรือความโลภ การไม่ควบคุมความต้องการในเรื่องเพศหรือเรื่องการครอบครองวัตถุสิ่งของมักก่อให้เกิดความเกลียดชัง, ความหึงหวง และการชิงดีชิงเด่น บทบัญญัติทั้งสองประการนี้เน้นความสำคัญของเจตนาที่บริสุทธิ์และแรงจูงใจที่เหมาะสมเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น การกระทำทั้งหลายที่ทำลายความรัก มักจะเกิดจากความต้องการที่ไม่ได้มุ่งให้เกิดปฏิสัมพันธ์อันมีความเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์

ความสุขแท้จริง(The Beatitudes) คืออะไร? (CCC 1716, 1725-1727)
     ความสุขแท้จริงสรุปแนวทางที่ผู้ติดตามพระคริสต์พึงพากเพียรในการดำเนินชีวิต และแสดงถึงสาระสำคัญของหลักธรรมตามแนวพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ที่ถูกพบในบทเทศน์บนภูเขาซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน(มัทธิว บทที่ 5-7) ความสุขแท้จริงเป็นคำพรรณนารูปแบบการเจริญชีวิตแบบพระคริสต์ และเป็นคำเชื้อเชิญให้เข้ามาเป็นศิษย์พระคริสต์ อีกทั้งร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ (พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2, The Splendor of Truth, 16)
ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
(มธ 5:3-10)

เราจะอธิบายความหมายของความสุขแท้จริงอย่างไร? (CCC 1716-1717)
     “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” ในประเด็นนี้ พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงยกย่องความยากจนในความหมายตามตัวอักษร แต่พระองค์ทรงกล่าวถึงบุคคลที่ถูกริดรอนทรัพย์สินเงินทอง, อำนาจ, ชื่อเสียง และไม่ใส่ใจในสิ่งต่างๆ ที่สื่อถึงเป็นความสำเร็จฝ่ายโลก แต่มีความซื่อสัตย์ต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้า พวกเขารู้ว่าพวกเขาต้องไว้วางใจพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ในทุกเรื่อง พระเยซูเจ้าขอให้เรามีความยากจนในจิตใจแบบนั้นเหมือนกัน คือต้องมีความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว
     “ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน” คำสอนนี้ให้ความหวังแก่เราว่า ท่ามกลางความยากลำบากที่เราได้รับ เราจะได้รับการปลอบโยนในตอนท้าย เราต้องไม่กลายเป็นผู้ที่ขมขื่น
     “ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก” ผู้ที่มีใจอ่อนโยนจะเป็นผู้ที่ถ่อมตัว เขาหรือเธอจะไม่แสดงความอิจฉาหรือหาวิธีแก้แค้นเมื่อถูกทำร้ายหรือถูกชิงช้ง
     “ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม” การกระหายหาความชอบธรรมหมายถึงการค้นหายุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ การค้นหายุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์หมายถึงการแสวงหาความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีความชอบธรรม, ยุติธรรม, และถูกต้องอย่างสมบูรณ์ การรับศีลมหาสนิทในทุกวันอาทิตย์เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและฟื้นฟูความสัมพันธ์นี้ ศีลมหาสนิทผลักดันเราให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความยุติธรรม, ให้สิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับ และทำให้มั่นใจว่าทุกคนมีทางเข้าถึงสิ่งทั้งหลายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี
     “ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา” ในบทข้าแต่พระบิดา เราร้องขอให้พระเจ้ายกโทษให้เราเหมือนที่เรายกโทษให้ผู้อื่น เมื่อเรายกโทษให้ผู้ที่ทำร้ายเรา, แม้แต่ศัตรูของเรา, นั่นคือเราแสดงให้ทุกคนได้รู้ว่าพระเจ้าทรงมีความรักและความเมตตา และพระองค์ทรงดูแลเราทุกคน
     “ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า” ผู้มีใจบริสุทธิ์เป็นผู้ที่มีหัวใจพร้อมมอบให้กับพระเจ้าเพียงผู้เดียว ไม่ควรมีสิ่งใดมาหันเหความสนใจของเราไปจากพระเจ้าได้ เงินทอง, หน้าที่การงาน, ครอบครัว, เพื่อน, ชื่อเสียง ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งเหล่านี้ควรมีบทบาทเป็นอันดับสองในชีวิตของเรา
     “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า” การมีชีวิตอยู่ในความรักและสันติสุขเป็นคุณลักษณะของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า คริสตชนมีหน้าที่สร้างความสามัคคีขึ้นในหมู่ผู้ที่มีความขัดแย้ง, การแตกแยก และความเป็นศัตรูกัน โดยช่วยพวกเขาให้ตระหนักถึงความเป็นพี่น้องชายหญิงของเรากับพระเยซูคริสต์
     “ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” ไม่มีสัญลักษณ์ของการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอันไหนที่จะสำคัญมากไปกว่าการเต็มใจทนทุกข์เพื่อพระองค์ คำสอนและการกระทำของพระเยซูเจ้าทำให้พระองค์ถูกเข้าใจผิดและถูกสบประมาท การเป็นคริสตชนหมายถึงการเป็นคนมีความตั้งใจที่จะลุกขึ้นยืนยันถึงความเชื่อมั่นของเรา แม้ว่าการทำเช่นนี้จะนำไปสู่การถูกปฏิเสธ, การถูกข่มเหง หรือการเป็นมรณสักขี

ศึกษาพระคัมภีร์

Catholic bible

ค้นหา

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

bkk2020

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

เรื่องมาตรการและแนวทางภาคปฏิบัติ

เพื่อการเข้าร่วมพิธีกรรมของคริสตศาสนิกชนคาทอลิก

แรงจูงใจในการประกาศพระวรสาร

 

บทความดีดี