Get Adobe Flash player

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานฯ

 imageedit 1 6373507384

บาทหลวงปิยะชาติ   มะกรครรภ์

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูต

อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

Facebook


banner face holych Custombanner_face_pmg_Custom.pngPresentation2 Custom

งานอื่นๆของฝ่าย

Slide6 CustomSlide5 Custom

เวลา

b11

เราเดินไปด้วยความเชื่อและมิใช่ตามสิ่งที่เห็น
     ลองนึกภาพว่ามีเส้นลวดขึงอยู่ระหว่างตึกธนาคารกับสำนักงานศาลในเมืองที่ท่านอยู่ สตรีผู้หนึ่งยืนอยู่บนดาดฟ้าของตึกธนาคาร และประกาศความตั้งใจว่าจะเดินบนเส้นลวดข้ามไปยังสำนักงานศาล คนกลุ่มหนึ่งมาร่วมเป็นพยานในการกระทำที่อาจหาญนี้ ไม่มีตาข่ายอยู่ด้านล่างเพื่อรองรับสตรีผู้นี้ในกรณีที่เธอพลาดตกลงไป เธอถามคนกลุ่มนั้นว่าพวกเขาเชื่อหรือไม่ว่าเธอจะทำสำเร็จ หลายคนตอบว่าเชื่อและก็เป็นกำลังใจให้เธอดำเนินต่อไป เธอค่อย ๆ เดินข้ามช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง บางช่วงก็ส่ายไปมาและเกือบจะเสียการทรงตัว พอเดินไปถึงอีกฟากหนึ่งเธอก็ได้ยินเสียงไชโยจากเบื้องล่าง ผู้คนร้องตะโกนออกมาว่า “ดีมาก เก่งจริงๆ” แล้วเธอก็หยิบรถเข็นล้อเดียวออกมาคันหนึ่ง และถามผู้ชมว่าเชื่อไหมว่าเธอสามารถเข็นรถเดินกลับไปอีกฟากหนึ่งได้ บางคนพยักหน้าแสดงการยอมรับ ส่วนคนอื่นๆก็ส่ายหน้าด้วยความไม่แน่ใจ ในเวลานั้นเองเธอมองตรงไปยังชายคนหนึ่งและร้องถามว่า “คุณคิดว่าฉันทำได้ไหม?” เขาตอบรับว่าเธอทำได้และยิ้มให้ เธอจึงท้าเขาว่า “งั้นพิสูจน์ความเชื่อของคุณที่มีต่อฉัน โดยขึ้นมานั่งบนรถเข็นคันนี้สิ”

การบุกเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้พบเรื่องแปลกๆมากมายและบ่อยครั้งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ กองกำลังทหารค้นตามไร่นาและบ้านเรือนต่าง ๆ เพื่อหาเหล่ามือปืนที่ดักยิง ณ บ้านร้างแห่งหนึ่ง พวกเขาส่องไฟฉายและเข้าไปในห้องใต้ดิน บนผนังที่ผุพังนั้นเอง พวกเขาเห็นไม้กางเขนอันหนึ่งแขวนอยู่ และที่ใต้กางเขนนั้นมีการเขียนข้อความไว้ว่า :
ข้าพเจ้าเชื่อในพระอาทิตย์ - แม้ในเวลาที่มันมิได้ส่องแสง
ข้าพเจ้าเชื่อในความรัก - แม้ในเวลาที่ยังไม่มีการแสดงออก
ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซู - แม้ในเวลาที่พระองค์มิได้พูดด้วย

ลูกอ๊อดสองตัวกำลังถกกันเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีโลกอื่น นอกเหนือจากโลกที่ตนอยู่ ลูกอ๊อดน้อยตัวหนึ่งบอกอีกตัวหนึ่งว่า “ฉันคิดว่าจะโผล่หัวขึ้นเหนือน้ำเพื่อดูว่าส่วนที่เหลือของโลกเป็นอย่างไร” ลูกอ๊อดอีกตัวหนึ่งกล่าวว่า “อย่าโง่ไปเลย อย่าพยายามบอกฉันว่ายังมีสิ่งอื่นในโลกนอกจากน้ำ”
เช่นเดียวกับมนุษย์เรา ลูกอ๊อดบางตัวไม่เคยคิดเลยว่าตนจะสามารถกลายเป็นกบ แม้ในเวลาที่ได้ขึ้นจากสระน้ำอันเป็นโลกของพวกมันแล้ว มนุษย์บางคนก็เชื่อว่าไม่มีสิ่งใดอื่นนอกจากสิ่งที่สามัญสำนึกบอกพวกเขา แต่ทว่าพวกเขาน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น ถ้าพวกเขามีความเชื่อ

ความเชื่อของบรรดาพ่อแม่เรายังคงดำเนินต่อไป
     ในการเปิดเผย(ความจริง) พระเป็นเจ้าทรงแสดงให้เรารู้ว่าพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่เรา และทรงเชื้อเชิญเราให้มาใกล้ชิดกับพระองค์และพระหรรษทานของพระองค์ ซึ่งจะช่วยให้เรารอดพ้นจากความชั่วร้ายและความผิด
     การตอบรับคำเชิญของการเปิดเผย(ความจริง) คือ ความเชื่อ
เราถวายความคิดและจิตใจของเราแด่พระเป็นเจ้าโดยอาศัยความเชื่อ นักบุญเปาโลกล่าวถึงการกระทำดังนี้ว่าเป็นดั่งการเชื่อฟังความเชื่อ(the obedience of faith) (รม 1:5, 16:26) คำว่าการเชื่อฟัง (obedience) มาจากคำภาษาลาตินคือ ob-audire หมายถึงการฟัง ความเชื่อเปิดจิตใจของเราให้ฟังถ้อยคำที่เปี่ยมด้วยความรักของพระเป็นเจ้าซึ่งบอกเราให้รู้ถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และชะตานิรันดรของเรา เราจึงต้องเป็นทั้งผู้ฟังพระวาจาและผู้ปฏิบัติตามพระวาจา
พระคัมภีร์บอกเราว่า อับราฮัม คือ บิดาแห่งความเชื่อของเรา เพราะท่านเชื่อฟังพระดำรัสของพระเป็นเจ้าที่ต้องการให้ท่านออกจากแผ่นดินเกิดของตน และกลายเป็นบิดาของชนชาติใหม่ในอีกดินแดนหนึ่งซึ่งพระเป็นเจ้าจะทรงแสดงให้ท่านรู้ (ปฐก 12:1-4) อ่านจดหมายถึงชาวฮีบรูบทที่ 7 ซึ่งยกย่องประชากรศักดิ์สิทธิ์ในพันธสัญญาเดิมจำนวนหนึ่งผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างในเรื่องความเชื่อ
     พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นผู้แสดงการเชื่อฟังความเชื่อได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เมื่อพระนางเสด็จไปเยี่ยมนางเอลีซาเบธญาติของพระนางนั้น พระนางทรงได้ยินนางเอลีซาเบธกล่าวว่า “เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาที่พระเป็นเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง” (ลก 1:45) ตั้งแต่คำตอบรับ “ตกลง” ของพระนาง เมื่อเทวทูตมาแจ้งสารของพระเป็นเจ้าจนถึงการยอมรับอย่างสงบของพระนาง ณ เชิงไม้กางเขน ความเชื่อของพระนางมารีย์ไม่เคยหวั่นไหว พระนางมารีย์ทรงเป็นพยานถึงพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าได้อย่างน่าพิศวง นี่คือเหตุผลที่พระศาสนจักรเคารพพระแม่มารีย์ในฐานะที่เป็นแบบอย่างที่บริสุทธิ์ที่สุดในเรื่องความเชื่อ

อะไรคือลักษณะเฉพาะของความเชื่อคริสตชน?

     ความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัว ความเชื่อทำให้ข้าพเจ้ากล่าวกับพระเป็นเจ้าว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระองค์ ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ และมอบความคิด, จิตใจ, วิญญาณและร่างกายของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” ความเชื่อดังกล่าวนี้รวมถึงความเชื่อในพระเยซูคริสต์ และพระจิตด้วย
     ความเชื่อเป็นเรื่องส่วนรวม ข้าพเจ้ามิได้เชื่อทุกสิ่งโดยตัวข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าเป็นส่วนของพระศาสนจักรอันเป็นชุมชนหนึ่งของผู้มีความเชื่อทั้งหลาย ข้าพเจ้าเข้าร่วมกับพวกเขาในการกล่าวว่า “เราเชื่อในพระบิดา พระบุตร และพระจิต” โดยนัยหนึ่งพระศาสนจักรก็คือกลุ่มคนที่สนับสนุนความเชื่อของข้าพเจ้า ดังนั้น ความเชื่อของเราจึงเป็นแบบพระศาสนจักร คงจะเป็นการยากหรือบางทีอาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ที่ข้าพเจ้าจะมีความเชื่อในพระคริสต์ ถ้าไม่มีคนรอบข้างสักคนเป็นผู้มีความเชื่อ ครอบครัว, วัด, สังฆมณฑลและพระศาสนจักรสากลต่างก็ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ข้าพเจ้าโดยทางความเชื่อของแต่ละหน่วยสังคม
     ความเชื่อเป็นความสามารถประการหนึ่งที่พระเป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์ เมื่อนักบุญเปโตรยืนยันว่าพระเยซูเจ้า คือพระบุตรของพระเป็นเจ้าผู้ทรงชีวิตนั้น พระเยซูเจ้าทรงสรรเสริญพระเป็นเจ้าที่ประทานความสามารถที่จะเชื่อนี้แก่นักบุญเปโตร นักบุญเปโตรไม่รู้เรื่องที่พระเยซูเจ้าเป็นพระบุตรของพระเป็นเจ้าจากวิจารณญาณของตนหรือจากบุคคลในครอบครัวของพระองค์ แต่โดยอาศัยความสามารถอันยิ่งใหญ่จากพระหรรษทานของพระบิดา ความเชื่อของเราจึงเป็นดั่งความสามารถประการหนึ่งและพระหรรษทานอย่างหนึ่งที่พระเป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์
ความเชื่อเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของมนุษย์ พระจิตทรงทำให้มีความเชื่อได้ แต่เราต้องใช้สติปัญญา และความสามารถของเราด้วยเพื่อที่จะมีความไว้วางใจ พระหรรษทานพึ่งพาความสามารถตามธรรมชาติของมนุษย์เพื่อจะได้รู้และไว้วางใจในอิสรภาพพร้อมทั้งยกระดับความสามารถเหล่านี้ขึ้นสู่ระดับเหนือธรรมชาติ
     ความเชื่อแสวงหาความเข้าใจ ขณะที่ความเฉลียวฉลาดของเราเองนั้น ไม่สามารถทำให้เรารู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่มาจากการเปิดเผย(ความจริง)ได้ เช่น พระตรีเอกภาพ(Trinity) แผนการช่วยให้รอดพ้น(the plan of salvation) หรือสถานภาพพระเจ้าของพระคริสต์(the divinity of Christ) แต่สติปัญญาของเราสามารถถูกโน้มน้าวให้เชื่อได้โดยเรื่องอัศจรรย์ต่าง ๆ ของพระคริสตเจ้าและนักบุญทั้งหลาย, คำสั่งสอนของบรรดาประกาศก รวมทั้งการเจริญเติบโตและความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร ยิ่งกว่านั้น สติปัญญาของเรายังสามารถตรวจสอบความจริงต่างๆจากการเปิดเผย(ความจริง) เพื่อจะเข้าใจสิ่งต่างๆนั้นได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และนำเอาความจริงเหล่านั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย นักบุญออกัสตินกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อเพื่อจะเข้าใจ และข้าพเจ้าเข้าใจเพื่อจะเชื่อ” (Sermo 43,7,9)
     ความเชื่อเป็นสิ่งที่แน่นอน สิ่งที่เรารู้โดยทางความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอนกว่าสิ่งที่เรารู้ด้วยวิจารณญาณ เพราะเรามีอำนาจของพระเป็นเจ้ารับรองความรู้นั้น ในบางครั้งความเชื่ออาจดูเป็นสิ่งยากแก่การเข้าใจด้วยสติปัญญาของเรา แต่ความแน่ใจที่เกิดขึ้นจากแสงสว่างของพระเป็นเจ้า(the divine light)2นั้นยิ่งใหญ่กว่าความแน่ใจที่เกิดจากสติปัญญาของเรา นักบุญอังเซล์ม กล่าวว่า “ความยุ่งยากร้อยแปดพันประการ ก็ไม่ทำให้เกิดความสงสัยแม้เพียงประการเดียว”
ความเชื่อเป็นเพื่อนของวิจารณญาณ ความเชื่อกับวิจารณญาณไม่สามารถจะขัดแย้งกันได้ ในเวลาที่ทั้งสองต้องกล่าวถึงความจริง ความจริงของพระเป็นเจ้านั้นไม่ขัดแย้งกับความจริงของมนุษย์ เนื่องจากพระเป็นเจ้าทรงเป็นผู้ประพันธ์ความจริง ในทุกๆที่ที่มีความจริงปรากฏ การค้นคว้าอย่างมีระเบียบในการหาความรู้ทุกสาขานั้น หากกระทำด้วยความสุจริตและไม่ขัดกับกฎศีลธรรมแล้ว ย่อมจะไม่ขัดแย้งกับความเชื่อ
     ความเชื่อเป็นอิสระ ไม่ควรมีผู้ใดถูกบังคับให้มามีความเชื่อที่เขาไม่สมัครใจเชื่อ เพราะการแสดงความเชื่อนั้นโดยธรรมชาติแล้วเป็นการแสดงออกที่อิสระ เราแนะนำความเชื่อให้กับผู้อื่นได้ แต่เราไม่ควรยัดเยียดความเชื่อให้เขา เราเสนอทางเลือกหนึ่งคือพระเยซูคริสตเจ้า, ทางเลือกหนึ่งคือความรักให้กับมวลมนุษย์ เราพยายามให้เหตุผลว่าทำไมควรจะเลือกพระคริสตเจ้าโดยใช้ความรัก, กำลังความสามารถทั้งหมดและการโน้มน้าวใจที่เราสามารถทำได้ แต่เราต้องไม่ยัดเยียดพระเยซูเจ้าให้กับผู้อื่น
     ความเชื่อเป็นความเชื่อถือในข่าวสารหนึ่ง ส่วนใหญ่ของสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นอ้างถึงความเชื่อในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์แบบส่วนตัว, ส่วนรวมและการไว้ใจ ความเชื่อของเรานั้นริเริ่มความสัมพันธ์ของเรากับพระตรีเอกภาพ –นั่นคือกับพระเยซูเจ้าด้วย พระคริสตเจ้าได้ตรัสไว้แล้วว่าเราควรเชื่อในพระองค์ แต่พระองค์ยังตรัสอีกว่าเราควรเชื่อในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนด้วย พระองค์ตรัสว่า “เราคือความจริง” และยังทรงสอนว่า “เรามีความจริง” บทข้าพเจ้าเชื่อของบรรดาอัครสาวกเป็นตัวอย่างสาระสำคัญหนึ่งที่อยู่ในข่าวสารถึงคริสตชน ทั้งยังเป็นบทข้าพเจ้าเชื่อที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่สอง และได้ถูกนำมาใช้ในพิธีศีลล้างบาป บทข้าพเจ้าเชื่อแห่งนิเชนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่สี่ อันเป็นผลมาจากสภาสังคายนาสากลสองครั้งแรก (คือสภาสังคายสากลครั้งแรกที่นิเช และครั้งที่สองที่คอนสแตนติโนเปิล) ที่ทำให้คำสอนของพระศาสนจักร เรื่อง ความเป็นมนุษย์และสถานภาพพระเจ้าของพระเยซูเจ้า, สถานภาพพระเจ้าของพระจิตและความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดากับพระบุตรและพระจิตในพระตรีเอกภาพมีความกระจ่างขึ้น หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของข่าวสารที่มีค่าและน่าพึงพอใจซึ่งความเชื่อของเรายึดถือ
     ความเชื่อได้ประสบกับชีวิตนิรันดรในช่วงเวลาสั้นๆ นักบุญบาซิลสอนเราให้พิจารณาว่า ความสุขที่เกิดจากความเชื่อในปัจจุบันนั้น เหมือนดั่งการมีประสบการณ์ชีวิตนิรันดรเป็นครั้งแรก แน่นอนทีเดียวที่ปัญหาต่าง ๆอันเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินชีวิตปัจจุบันของเราทำให้เรามีความชื่นชมในความรุ่งโรจน์ของชีวิตหน้าได้ยาก ด้วยเหตุนี้เราจึงควรได้รับแรงบันดาลใจจากบรรดาพยานเรื่องความเชื่อ เช่น อับราฮัม ผู้เดินไปในทางของพระเป็นเจ้าด้วยความหวังอันเต็มไปด้วยพลังความเชื่อที่ให้ความสุขอย่างไม่เคยมีมาก่อน และพระแม่มารีอาผู้ทรงเดินทางไปในยามค่ำคืนแห่งความเชื่อ บรรดานักบุญก็เป็นกลุ่มพยานผู้ซึ่งยืนยันกับเราว่าการอุทิศตนทำตามความเชื่อของเรานั้นไม่เปล่าประโยชน์ แต่เป็นการประกันของพระเป็นเจ้าถึงสิ่งที่เราหวังจะได้รับ และเป็นความมั่นใจในความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองไม่เห็น

 

การไตร่ตรองจากหนังสือคำสอน
1. ความเชื่อคริสตชนคืออะไร?
“ความเชื่อ คือ ความยึดมั่นเป็นส่วนตัวของมนุษย์ทั้งตัวตนต่อพระเป็นเจ้าผู้เปิดเผยพระองค์เอง เป็นการยอมรับการเปิดเผยซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทรงกระทำเองโดยกิจการและพระวาจาของพระองค์ ด้วยสติปัญญาและเจตจำนงของบุคคลคนหนึ่ง” (CCC 176) “ความเชื่อเป็นของประทานแบบเหนือธรรมชาติจากพระเป็นเจ้า มนุษย์จึงต้องการความอนุเคราะห์ช่วยเหลือภายในจากพระจิต เพื่อเขาจะได้เชื่อ” (CCC 179)
2. ความเชื่อเป็นการกระทำของมนุษย์ และของพระศาสนจักรอย่างไร?
“การเชื่อ” เป็นการกระทำของมนุษย์อย่างมีสติและอิสระ เหมาะสมกับความมีเกียรติของบุคคลผู้เป็นมนุษย์ “การเชื่อ” เป็นกิจการของพระศาสนจักร ความเชื่อของพระศาสนจักรมาก่อน, ก่อให้เกิด, สนับสนุนและบำรุงเลี้ยงความเชื่อของเรา” (CCC 180 -181) “ความเชื่อเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความรอดพ้น” (CCC 183)
3. เราจะพากเพียรในความเชื่อได้อย่างไร?
“เราจะต้องบำรุงเลี้ยงความเชื่อด้วยพระวาจาของพระเป็นเจ้า เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่, เจริญเติบโต และพากเพียรในความเชื่อได้จนถึงที่สุด เราจะต้องวิงวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยเพิ่มพูนความเชื่อของเรา(เทียบ มก 9:24; ลก 17:5; 22:32) ความเชื่อจักต้อง ‘เป็นการกระทำโดยอาศัยความรัก’ , มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม, และมีรากฝังอยู่ในความเชื่อของพระศาสนจักร(กท 5:6; รม 15:13; อ้างถึง Jas 2:114-26)” (CCC 162)

ที่มา : หนังสือคำสอนครอบครัว บทที่ 3

ศึกษาพระคัมภีร์

Catholic bible

ค้นหา

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

bkk2020

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

เรื่องมาตรการและแนวทางภาคปฏิบัติ

เพื่อการเข้าร่วมพิธีกรรมของคริสตศาสนิกชนคาทอลิก

แรงจูงใจในการประกาศพระวรสาร

 

บทความดีดี