1 สิงหาคม นักบุญ อัลฟอนโซ เด ลิกวอรี (1696 – 1787)
พระสังฆราชและนักปราชญ์
นักบุญอัลฟอนโซ เกิดที่เมืองเนเปิล ขณะที่ยังมีอายุน้อยอยู่ อัลฟองโซได้เป็นทนายความที่มีชื่อเสียงของเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี แต่ท่านได้ผิดหวังในคดีเรื่องหนึ่งอันเป็นเหตุให้ท่านได้เปลี่ยนวิถีชีวิตโดยมุ่งแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐกว่า
อัลฟองโซ ได้บวชเป็นพระสงฆ์เพื่อประกาศพระวรสารแก่คนยากคนจนตามท้องทุ่งไร่นา และเพื่องานนี้ท่านได้ตั้งคณะนักบวช “คณะพระมหาไถ่” ท่านต้องพบกับการทดลองและอุปสรรคต่างๆนานา แต่ที่สุดท่านก็ได้เอาชนะได้โดยอาศัยความเพียรทนที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ท่านได้เป็นพระสังฆราชของซาน อากาทา เดอี โกธี ที่เมืองเบเนเวนโต และหลังจากที่ได้ตรากตรำทำงานลำบากมามาก ท่านได้ลาออกจากหน้าที่ไปอยู่ที่เมืองปากานี
ที่เมืองนี้เองที่ท่านได้เขียนหนังสือจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน ท่านได้ซื่อสัตย์ต่อคำปฏิญาณของท่านว่าจะไม่ยอมเสียเวลาเลย ท่านได้ต่อสู้กับบรรดาผู้ที่เคร่งศาสนาจนเกินไป เช่น พวกเพียวริตันและพวกยันเซนิสต์ โดยให้วางใจในพระทัยเมตตากรุณาแห่งการช่วยให้รอดพ้นของพระผู้เป็นเจ้า ท่านกล่าวว่า ความศักดิ์สิทธิ์คือจุดหมายของการเจริญชีวิตของมนุษย์ “พระผู้เป็นเจ้า ทรงต้องการให้ทุกคนเป็นนักบุญตามสถานภาพของตัวเอง คือ นักบวชก็เป็นแบบนักบวช ฆราวาสก็เป็นแบบฆราวาส พ่อค้าก็เป็นแบบพ่อค้า และทหารก็เป็นแบบทหาร” (Pratica di Amar Gesu Cristo, VIII, 10) และคำสวดภาวนาก็เป็นพลานุภาพอันมหาศาลสำหรับมนุษย์
นักบุญอัลฟอนโซ เป็นอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ทางจริยศาสตร์และความศรัทธาภักดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความศรัทธาภักดีต่อศีลมหาสนิท และต่อพระนางพรหมจารีมารีอา ท่านได้กล่าวไว้ว่า พระนางเป็นผลงานที่งดงามที่สุดของการไถ่กู้
นักบุญอัลฟอนโซ ได้รับเกียรติแต่งตั้งให้เป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร และเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดาผู้ฟังแก้บาปและของนักจริยศาสตร์ด้วย
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1.ให้เราแน่ใจว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่กู้เรา และได้ทรงช่วยเราให้รอดพ้น
2.ให้เราเข้าพึ่งบูชามิสซา อันเปรียบเสมือนท่อธารแรกแห่งพระหรรษทานทุกประการ
3.ให้เราคิดอยู่เสมอว่า เวลาทุกวินาทีมีคุณค่าสำหรับนิรันดรภาพ
4.ให้เราเฝ้าศีลมหาสนิท ให้ความเคารพและให้เกียรติแด่พระนางพรหมจารีมารีอาและให้เราหมั่นสวดภาวนาอยู่เสมอๆ
(ที่มา : ย. วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, สมุทรปราการ, บ.สตาร์บูม อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, 2007, หน้า 293 – 294)