14 กุมภาพันธ์ วันพุธรับเถ้า
เช่นเดียวกับวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ วันพุธรับเถ้าเป็นอีกวันหนึ่งที่พระศาสนจักรเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ทุกคนทำการจำศีลอดอาหาร นั่นก็คือ ให้อดมื้ออาหารที่สำคัญที่สุดของวัน ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องหมายอันแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะเสียสละและการรู้จักร่วมสุขร่วมทุกข์กับคนอื่น เป็นต้นเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าในพระทรมานของพระองค์
ความพร้อมที่จะเริ่มต้นด้วยการรู้จักฟังเสียงของพระเป็นเจ้า พร้อมที่จะรับรู้ค่านิยมแห่งพระวาจาของพระองค์ อันเป็นเครื่องหมายของการกลับใจ โดยนัยนี้ การจำศีลอดอาหารของคริสตชนก็จะละม้ายคล้ายกับของพระอาจารย์เจ้าเวลาที่พระองค์ทรงเริ่มปฏิบัติพระภารกิจของพระองค์
การจำศีลอดอาหารของคริสตชนในวันนี้ จะต้องยืดออกไปหรือต่อเนื่องออกไปตลอดเทศกาลมหาพรตด้วยการริเริ่มส่วนตัวในการรู้จักเสียสละทรัพย์สมบัติเงินทอง ความสนุกสนาน ความสะดวกสบายส่วนตัว แม้ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยด้วย ทั้งนี้ ให้คริสตชนทำด้วยความสมัครใจและด้วยความยินดี ดังนี้ การจำศีลอดอาหารแบบพิธีการที่คริสตชนทำด้วยจิตตารมณ์ ไม่ใช่แบบภายนอก ก็จะกลายเป็นเครื่องหมายแห่งความเชื่อ และหนทางแห่งการช่วยให้รอดสำหรับเราแต่ละคน
จากอีกด้านหนึ่ง โดยการยอมสู้ทนกับการรู้จักอดอะไรบ้าง ก็จะทำให้เรารู้จักร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนอื่นๆอีกจำนวนมากซึ่งคุ้นเคยกับการอดอาหาร การขาดสิ่งที่จำเป็นสำหรับยังชีพ การขาดการศึกษา และ การขาดสิ่งที่จะช่วยให้เขาได้พัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมกับคนอื่นๆ ดังนั้น การจำศีลอดอาหารก็จะกลายเป็นพฤติกรรมทางสัญลักษณ์ และเป็นการประณามความอยุติธรรมอันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ที่สุดเป็นการรู้จักร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนที่อาภัพน่าสงสาร เพราะฉะนั้น การเตรียมฉลองปัสกาก็จะกลายเป็น “มหาพรตแห่งความรักฉันท์พี่น้อง” และการทานอาหาร(ค่ำ)ของพระสวามีจะกลายเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความยากจนอาภัพน่าสงสาร การทำกิจใช้โทษบาป ความหวัง และเป็นการประกาศว่าอาณาจักรของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว
ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในพระทรมานของพระสวามีเจ้าอย่างจริงจัง จะทำให้เขาได้รู้จักว่าการเสด็จกลับไปหาพระบิดาเจ้านั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว ทั้งยังทำให้เขาได้รู้จักอีกว่า การรู้จักตายต่อเนื้อหนังของตัวเองวันละเล็กวันละน้อย ก็จะทำให้จิตใจแห่งการกลับคืนชีพและจิตแห่งชีวิตใหม่สามารถเบ่งบานได้ในที่สุด
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, นครปฐม, วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน, 1985 หน้า 83-84)