26 มกราคม นักบุญทิโมธีและนักบุญทิตัส (ศตวรรษที่ 1) พระสังฆราช
ทิโมธี เป็นศิษย์คนโปรดของนักบุญเปาโล เป็นไปได้ที่นักบุญเปาโลเอง ที่ได้ทำให้ท่านกลับใจในระหว่างการเดินทางแพร่ธรรมครั้งแรก นักบุญ ทิโมธี เป็นบุตรของบิดาที่เป็นคนต่างศาสนา ส่วนมารดาของท่านนั้นเป็นชาวยิว กลุ่มคริสตชนที่เมืองลิสตราได้ฝากฝังท่านไว้กับนักบุญเปาโล นักบุญเปาโลได้รับท่านไว้เป็นเพื่อนร่วมทางในการเดินทางแพร่ธรรมครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3
เนื่องจากว่าท่านเป็นลูกหลานของชาวยิวและเพื่อความคล่องตัวในการแพร่ธรรม นักบุญเปาโลจึงให้ท่านเข้าพิธีสุหนัต ท่านได้รับมอบหมายให้ทำงานหลายอย่าง พร้องทั้งให้รับธุระจัดการบางเรื่องในกลุ่มคริสตชนที่เมืองเธสะโลนิกา มาเซโดเนีย และโครินทร์
นักบุญเปาโล ได้เขียนจดหมายถึงท่านอย่างน้อย 2 ฉบับด้วยกัน ซึ่งได้รับการจัดรวมเข้าไว้ในหนังสือพระธรรมใหม่ ท่านได้อยู่กับนักบุญเปาโล เวลาที่นักบุญเปาโลโดนจับขังคุกครั้งแรก ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสังฆราชของเมืองเอเฟซัส และที่สุดเวลาที่นักบุญเปาโลต้องโดนขังคุกเป็นครั้งที่ 2 ท่านได้รับการขอร้องให้ไปเป็นเพื่อนที่กรุงโรมด้วย
ทิตัส เป็นเพื่อนร่วมทางอีกคนหนึ่งของนักบุญเปาโล ท่านมาจากครอบครัวคนต่างศาสนาเช่นเดียวกับนักบุญทิโมธี ดูเหมือนว่านักบุญเปาโลได้ทำให้ท่านกลับใจมาหาพระคริสตเจ้าในระหว่างการเดินทางแพร่ธรรมครั้งแรก ท่านได้ร่วมเดินทางมากรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับนักบุญเปาโลและนักบุญบาร์นาบัส และที่กรุงเยรูซาเล็มนี่เองที่นักบุญเปาโล ได้ต่อสู้อย่างแข็งขันกับคนที่ต้องการให้คริสตชนที่มาจากครอบครัวคนต่างศาสนาต้องเข้าพิธีสุหนัต
ท่านได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างกลุ่มคริสตชนที่เมืองโครินทร์กับนักบุญอัครธรรมทูตเอง ในจดหมายที่นักบุญเปาโลได้เขียนถึงท่านนั้น ดูเหมือนว่าเวลานั้นท่านได้มาพำนักอยู่ที่เกาะครีตแล้ว นักบุญเปาโลได้เขียนจดหมายขอร้องท่านให้ไปที่เมืองนิโคโปลีนแคว้นเอปิโร และเป็นที่น่าเชื่อว่าจากเมืองนิโคโปลีนี่เอง ที่นักบุญเปาโลได้ส่งท่านไปที่เมืองดัลมาเซีย ที่ซึ่งท่านได้รับความเคารพให้เกียรติเป็นพิเศษจากชาวเมือง
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ขอให้ชีวิตของเราจงเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมและการรู้จักประมาณด้วยเถิด
2. ขอให้บรรดาสัตบุรุษได้เจริญชีวิตป็นอันหนึ่งอันเดียวกับนายชุมพาบาลของตนในความนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระคริสตเจ้า
3. ให้เราร่วมถวายบูชามิสซาประหนึ่งว่า เป็นการรอคอยการเสด็จกลับมาของพระเยซูเจ้า
4. ข้าแต่พระสวามีเจ้า โปรดประทานนายชุมพาบาลที่ดีแก่พระศาสนจักรของพระองค์
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, นครปฐม, วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน, 1985, หน้า 41 – 43)