27 ธันวาคม
นักบุญยอห์น
(ศตวรรษที่ 1)
อัครธรรมทูตและผู้นิพนธ์พระวรสาร
นักบุญยอห์น เป็นสานุศิษย์ที่ใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้ามากที่สุด และเป็นท่านเองที่พระเยซูเจ้าได้ไขแสดงพระองค์ว่าทรงเป็นพระบุตรพระผู้เป็นเจ้าที่ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ให้ท่านได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง
บิดาของท่านชื่อ เศเบดี เป็นชาวประมงที่ร่ำรวยของเมืองเบธไซดา (มก. 1,20 ; มธ. 4, 18-22 ; ยน 1, 44) และมารดาชื่อ ซาโลเม ซึ่งเป็นสตรีคนหนึ่งที่ได้อุทิศตัวในการคอยให้บริการแด่พระเยซูเจ้าและบรรดาสานุศิษย์ของพระองค์
นักบุญยอห์นและพี่ชายของท่าน คือ นักบุญยากอบ คงจะได้รับการศึกษาอบรมในกลุ่มพวกรักชาติ (ZELOTA) ซึ่งทั้งนี้เราจะเห็นได้จากคำพูดตอบโต้ของท่านที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและร้อนแรง (มก 3.17; ลก 9, 53-56) ครั้งแรก ท่านคงเป็นศิษย์ของนักบุญยอห์น บัปติสต์ ต่อมานักบุญยอห์น บัปติสต์ ได้แนะนำให้ท่านติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1,35-41) เมื่อได้กลายเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูเจ้าแล้ว ท่านได้เป็นศิษย์คนหนึ่งที่ขยันขันแข็งที่สุด และเป็นผู้ที่พระองค์ได้มอบหมายหน้าที่ต่างๆให้ทำมากที่สุด พร้อมทั้งเรื่องที่พระองค์ไม่ทรงอยากเปิดเผยให้คนอื่นรู้ ก็ได้บอกให้ท่านฟังด้วย (มธ. 17, 1-8 ; มก 13,3 ; ลก 22,8 ; ยน 13,23 ; มธ 26,37 ; ยน 19, 26; 20,3) ท่านได้เข้าร่วมประชุมสภาสังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็ม (กจ. 2,9) และในบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านได้ถูกเนรเทศไปที่เกาะปัทมอส ในสมัยของจักรพรรดิโดมีซีอานุส (วว 1)
นักบุญยอห์นได้บรรจงวางการไขแสดงของพระผู้เป็นเจ้าให้โลกได้รู้จักในพระบุคคลของพระคริสตเจ้า โดยให้เป็นศูนย์กลางของพระวรสารของท่าน นั่นก็คือ พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า และได้ทรงแสดงพระองค์ว่าเป็นพระบุตรพระเจ้าจริงๆ โดยอาศัยถ้อยคำที่ว่า “เราเป็น” และด้วยการสำแดงพระองค์จริงๆก็หลายครั้งด้วยกัน ซึ่งนักบุญยอห์นถือว่า เป็นการเป็น “พยาน” หรือเป็น “พระภารกิจของพระองค์” ที่สำคัญที่สุด คือ การได้รับเกียรติมงคลของพระเยซูเจ้าในรหัสธรรมปัสกา และหมายสำคัญนี้ก็ได้รับการรื้อฟื้นเรื่อยมาในชีวิตของพระศาสนจักรและในศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระองค์สถิตอยู่
ส่วนจดหมายของท่าน ก็เป็นการสืบทอดคำสั่งของท่านต่อจากพระวรสารนั่นเอง พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็น “ความรักและแสงสว่าง” และ หน้าที่ของคริสตชนในเรื่องความรักเมตตา และการระวังเอาใจใส่ต่อสู้กับบาปเป็นเรื่องที่สำคัญในบทจดหมายของท่าน
สำหรับหนังสือวิวรณ์นั้นเป็นการรำพึงไตร่ตรองถึงความหมายของประวัติศาสตร์ ซึ่งใช้ภาษาวรรณคดีที่นิยมกันมากในหมู่ชางฮีบรูในสมัยนั้น ท่านได้นิพนธ์ขึ้นก็เพื่อจะเสริมสร้างความเชื่อของบรรดาคริสตชนที่ถูกเบียดเบียนให้เข้มแข็งขึ้น คือ พระคริสตเจ้าได้ทรงมีชัยชนะต่อโลกและปีศาจแล้ว ผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในพระทรมานของพระคริสตเจ้าก็จะมีส่วนร่วมในชัยชนะของพระองค์ด้วย
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ขอให้พระวรสารของนักบุญยอห์นช่วยนำเราให้เข้าสู่ความใกล้ชิดสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า
2. ข้าแต่นักบุญยอห์น โปรดช่วยเราให้เข้าใจดียิ่งขึ้นว่า พระผู้เป็นเจ้าคือความรัก
3. ให้เราพยายามปลูกฝังความรู้สึกที่ว่า เราเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้าให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, นครปฐม, วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน, 1985, หน้า 522-524)