กระบวนการการรับเข้าเป็นคริสตชน(RCIA)ในพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย
ข้อมูลRCIA (เริ่มต้น-ปัจจุบัน)
ในกฤษฎีกาสมัชชาอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ค.ศ. 2005 เรื่องการฟื้นฟูชีวิตและพันธกิจของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (บทที่ 5 การฟื้นฟูชุมชนคริสตชน ข้อ 40) และในแผนอภิบาล คริสตศักราช 2010-2015 ของพระศาสนจักรอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เรื่องอภิบาลชุมชนศิษย์พระคริสต์ ร่วมพันธกิจแบ่งปันข่าวดี(บทที่ 2 สร้างและพัฒนาชุมชน ข้อ 21:ค)
และในกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย คริสตศักราช 2015 "ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่" (บทที่ 2 "เจริญชีวิต" ข้อ 11 และบทที่5"เครื่องมือและมาตรการเพื่อฟื้นฟูการประกาศข่าวดีขึ้นใหม่" ข้อ 36) ได้ยืนยันการใช้กระบวนการ RCIAเป็นแนวทางในการเตรียมผู้ใหญ่ที่สมัครเข้าเป็นคริสตชน เป็นเครื่องมือที่สำคัญในงานอภิบาลและเสริมสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงพันธกิจการประกาศข่าวดี การสร้างและการพัฒนา รวมถึงหน้าที่ในการต้อนรับ คริสตชนใหม่ในเขตวัดของตน
มีพัฒนาการอย่างไร? เติบโตอย่างไร?
ปัจจุบันกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน(RCIA) ยังไม่เป็นที่รู้จักในหลายๆวัด และบางวัดก็ไม่สามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในเขตวัดต่างๆได้ เนื่องมาจากจำนวนบุคลากรและอาสาสมัครในการร่วมมือเป็นพี่เลี้ยง(Sponsors)สำหรับผู้สนใจเรียนคำสอนเพื่อเตรียมเป็นคริสตชนมีไม่เพียงพอ ในบางวัดก็ยังใช้ระบบการเรียนการสอนในแบบเดิมๆอยู่ เพราะมีความสะดวกในด้านของจำนวนบุคลากรและไม่มีวจนพิธีกรรมที่มากมายในการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชนนอกจากพิธีศีลล้างบาป,ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท
ซึ่งกระบวนการเตรียมผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ในรูปแบบของRCIAนั้นเป็นกระบวนการที่มีการปรับปรุงแก้ไขและรื้อฟื้น โดยมีหลายขั้นตอนจากการประชุมสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 เพื่อให้มีระยะเวลาในการเรียนการสอนและการตัดสินใจที่เหมาะสมแก่ผู้เรียน ในการก้าวเดินไปในแต่ละขั้น และเห็นถึงความสำคัญของการเรียนตลอดระยะเวลา1ปีหรือมากกว่านั้น โดยมีจุดหมายคือการเข้ามาเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร รู้จัก รัก และเข้าใจในองค์พระเยซูคริสตเจ้าผ่านทางการเรียนคำสอนและการปฏิบัติ เพื่อให้เขาเข้าใจว่าศาสนาเปรียบเสมือนลมหายใจ เมื่อเขาตัดสินใจเลือกใครเป็นที่หนึ่งในชีวิต เขาควรปฏิบัติหลักคำสอนในศาสนานั้นอย่างจริงจัง เสริมเสร้างความรัก,เอื้ออาทร,ให้อภัยแก่บุคคลในครอบครัว และเพื่อนบ้านตลอดไป
ดังนั้น ถ้าในแต่ละวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯนำกระบวนการนี้ไปใช้ก็จะได้คริสตชนที่เรียนคำสอนและรับศีลล้างบาปที่มีศักยภาพ และมีการร่วมมือกันในชุมชนแห่งความเชื่อในการเป็นพี่เลี้ยงสำหรับผู้สนใจเตรียมเป็นคริสตชน โดยกระบวนการRCIAนี้ยังมีการจัดทำทะเบียนประวัติผู้เรียนคำสอนสำหรับใหญ่ เพื่อการติดตามและสะดวกต่อการอภิบาลของพระสงฆ์เจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์ผู้รับผิดชอบในงานคำสอนผู้ใหญ่ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนเปลี่ยนไป ซึ่งกระบวนการนี้มิใช่เป็นความรับผิดชอบแค่เพียงพระสงฆ์ในสังฆมณฑลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดานักบวชและบรรดาคริสตชนฆารวาส(พี่เลี้ยง) ที่จะต้องร่วมมือกันในการนำกระบวนการนี้ไปใช้ให้เกิดผลและเข้าสู่พหุศาสนาในวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย