คริสตชนผู้ใหญ่
การสอนคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่มุ่งไปที่ตัวบุคคล จึงต้องตระหนักอย่างจริงจังถึงประสบการณ์ สภาพแวดล้อม และสิ่งท้าทายต่างๆ ที่พวกเขาประสบอยู่ในชีวิต ปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อและความต้องการของพวกเขาที่มีอยู่หลากหลายแตกต่างกัน เราจึงแบ่งผู้ใหญ่แบ่งออกเป็นกลุ่ม 5 กลุ่ม คือ
1. ผู้ใหญ่คริสตชน ที่ดำเนินชีวิตตามความเชื่อของพวกเขาอย่างยึดมั่น สม่ำเสมอ และปรารถนาที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในความเชื่อ
2. ผู้ใหญ่ที่รับศีลล้างบาปแล้ว แต่มิได้รับการสอนคำสอนอย่างลึกซึ้งเพียงพอ หรือมิได้รับการชี้นำให้บรรลุถึงเป้าหมายการเดินทางที่เริ่มจากการเข้าเป็นคริสตชน หรือผิดพลาดไปจากความเชื่อจนถึงระดับที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “กึ่งผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน” (CT 44)
3. ผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป เป็นผู้ที่สนใจศาสนาคริสต์และปรารถนาที่จะเข้ามาเป็น คริสตชน ต้องมีการเตรียมตัวเป็นคริสตชนอย่างแท้จริงและถูกต้องเหมาะสม (GDC 172)
4. ผู้ใหญ่ที่เตรียมตัวเพื่อรับศีลสมรส (ระหว่างคาทอลิกกับคาทอลิก) ผู้ใหญ่ที่เตรียมเข้าพิธีสมรส (ระหว่างคาทอลิกกับผู้ที่นับถือต่างความเชื่อ) และคำสอนครอบครัว
5. ผู้ใหญ่ในกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้อพยพย้ายถิ่น ผู้ติดยาเสพติด ผู้ถูกคุมขัง ผู้เดินเรือทะเล ผู้ท่องเที่ยว แรงงานต่างชาติในประเทศ ผู้ขายบริการทางเพศ ผู้มีสภาพจิตเบี่ยงเบน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ
(อ้างอิง: คู่มือแนะแนวการสอนคำสอนในประเทศไทย (TDC ; 2010 ข้อ 42)
รูปแบบของการสอนคำสอนผู้ใหญ่
ในสถานการณ์และสภาพแวดล้อมบางอย่างต้องการการสอนคริสตศาสนธรรมในรูปแบบเฉพาะต่างๆ ดังนี้
1. การเตรียมตัวเข้าเป็นคริสตชนสำหรับผู้ใหญ่ ควรมีรูปแบบเฉพาะสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ค.ศ.1962) ได้รื้อฟื้นการเตรียมตัวเข้าเป็นคริสตชน (Catechumenate) สำหรับผู้ที่กำลังเตรียมเข้าเป็น คริสตชน (Catechumen) เพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านี้ได้บรรลุภาวะด้านความเชื่อ โดยใช้พิธีรับผู้ใหญ่ เข้าเป็นคริสตชน (Rite of Christian Initiation for Adults; RCIA) เป็นแนวทางปฏิบัติควบคู่กับการใช้หนังสือ “ก้าวไปด้วยกัน” หรือหนังสือคำสอนผู้ใหญ่เล่มอื่นที่เหมาะสม
2. การสอนคริสตศาสนธรรมต่อเนื่องของบรรดาบุคคลที่มีหน้าที่ฝึกอบรมในชุมชน เช่น ครูคำสอน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานฆราวาสแพร่ธรรม และสร้างชุมชนคริสตชน
3. การสอนคริสตศาสนธรรมสำหรับโอกาสที่สำคัญพิเศษต่างๆ ในพระศาสนจักร ชีวิต และสังคม เช่น ตรีวารฉลองวัด การอบรมคู่สมรส พิธีสมรส พิธีล้างบาป การรับศีลศักดิ์สิทธิ์ (การล้างบาปให้แก่เด็กๆ การรับศีลมหาสนิทครั้งแรก และการรับศีลกำลัง) การภาวนาให้ผู้ล่วงลับ พิธีปลงศพช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆในวัยหนุ่มสาว ยามเจ็บป่วย รณรงค์จิตตารมณ์มหาพรต รณรงค์ในเทศกาลกองบุญข้าว และวันสำคัญต่างๆ การประกวดเทียนปัสกา การประกวดดาว และถ้ำพระกุมาร ฯลฯ
สำหรับโอกาสและประสบการณ์ต่างๆที่พิเศษ เช่น โอกาสเริ่มเข้าทำงาน เข้าเป็นทหาร อพยพไปอยู่ ที่ใหม่ ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเช่นที่กล่าวมานี้อาจช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ในจิตใจ หรือสร้างความยุ่งยากใจ เป็นโอกาสที่จะเน้นถึงความต้องการพระวาจาที่ช่วยให้รอดของพระเป็นเจ้า
4. การสอนคำสอนโดยใช้ศรัทธาประชาชน (Popular Devotion) และวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับปีพิธีกรรม เช่น มรรคาศักดิ์สิทธิ์ มิสซาวันศุกร์ต้นเดือน นพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์ สวดสายประคำ พิธีแห่พระรูปแม่พระ การจาริกแสวงบุญทั้งในและต่างประเทศ
5. การสอนคำสอนโดยใช้สื่อต่างๆ เช่น สิ่งพิมพ์คาทอลิก วีดีทัศน์ เทป รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ เว็บไซต์ ข่าวสารคาทอลิก คำสอนและพระคัมภีร์ไปรษณีย์
6. การสอนคำสอนกลุ่มพิเศษ โดยพิจารณาการใช้รูปแบบ การสอนตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม เพื่อเป็นแนวทาง ความหวัง และกำลังใจในการดำเนินชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ
การสอนคำสอนในรูปแบบเฉพาะดังที่กล่าวมานี้ รวมทั้งรูปแบบพิเศษอื่นๆอีก เป็นสิ่งที่ส่งเสริมแต่มิอาจทดแทนหลักสูตรการสอนคำสอนอย่างมีแบบแผนและต่อเนื่อง ที่ชุมชนพระศาสนจักรทุกแห่งต้องจัดสำหรับบรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลาย (อ้างอิง: TDC; 2010 ข้อ 44 และ GDC ข้อ 176)