15 พฤศจิกายน 60
นักบุญ อัลเบิร์ต
(1200? – 1280)
พระสังฆราชและนักปราชญ์
อัลเบิร์ต แห่ง เลาอิงเกน ในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ขณะที่ยังกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่เมืองปาโดวา ก็ได้เข้าเป็นนักบวชคณะโดมินิกัน ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการแขวงและสอนเทววิทยาที่กรุงปารีส และที่กรุงปารีสนี่เอง ท่านได้มีลูกศิษย์คนหนึ่งคือ นักบุญโธมัส อไควนัส ที่สุดท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสังฆราชแห่งเมืองเรเกนสบูร์ก (ประเทศเยอรมนี) แต่เป็นสังฆราชได้ปีเดียวก็ขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อจะได้อุทิศตัวเองให้กับการศึกษาค้นคว้าได้อย่างเต็มที่
นักบุญอัลเบิร์ต ยิ่งใหญ่ในฐานะที่เป็นนักเทววิทยา นายชุมพาบาล นักวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้ก่อให้เกิดสันติระหว่างไพร่ฟ้าประชาชนกับเจ้านาย เนื่องจากว่าท่านเป็นนักธรรมชาตินิยมผู้ช่ำชองคนหนึ่ง และก็เป็นคนเดียวในสมัยของท่านที่ได้นำเอาวิชาการทางธรรมชาติกับการไขแสดงปรัชญากับเทววิทยามารวมเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าพิศวง และเพราะความเข้ากันได้ระหว่างวิทยาศาสตร์กับความเชื่อนี่เองที่ได้ทำให้ความคิดอ่านของนักบุญอัลเบิร์ต ใกล้ชิดกับปัญหาของเรามนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี้มาก ท่านได้ช่วยเปิดขอบฟ้าแห่งเทววิทยาเกี่ยวกับปัญหา “การกำเนิดของโลกและอนาคตของโลก” ให้กว้างขึ้น
และบูชามิสซาเองก็น่าจะได้รับการฟื้นฟูโดยให้เทววิทยาของพิธีกรรมได้สัมผัสกับพระวาจาของพระผู้เป็นเจ้า กับธรรมประเพณี และกับสภาพการณ์ที่แท้จริงของเรามนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี้
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. อย่าให้วิชาการต่างๆ (วิทยาศาสตร์) ทำให้เราออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า ตรงข้ามจะต้องช่วยนำเราให้เข้าหาพระองค์
2. ขอให้นักเทววิทยาได้แลเห็นว่าการไขแสดงเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์
3. ขอให้พระวาจาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับการถ่ายทอดอย่างสัตย์ซื่อและอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ขอให้พระสวามีเจ้า โปรดบันดาลให้มีนักเทววิทยาที่เป็นอาจารย์แห่งชีวิตจริงๆ ในพระศาสนจักรของพระองค์
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, นครปฐม, วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน, 1985, หน้า 470 – 471)