10 พฤศจิกายน
นักบุญ เลโอ องค์ใหญ่
(+461)
พระสันตะปาปาและนักปราชญ์
นักบุญเลโอ องค์ใหญ่ ได้เป็นสังฆราชแห่งกรุงโรมตั้งแต่ปี 440 ขณะที่นครแห่งนี้กำลังถูกคุกคามจากพวกอนารยชน พระสันตะปาปาเลโอสมควรที่จะได้รับการขนานนามว่า “องค์ใหญ่” หรือ “มหาราช” เพราะว่าพระองค์มีทั้งศักดิ์ศรีและความสุภาพผสมผสานกันอยู่ พระองค์ได้มีจิตสำนึกอันมีชีวิตชีวาในหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร และพระองค์เป็นผู้ที่เข้มแข็งมั่นคงไม่สั่นสะเทือนในเรื่องความเชื่อที่ถือกันมาเป็นประเพณีสืบทอดมาจากบรรดาอัครธรรมทูต พระองค์ได้แสดงถึงความชำนาญอันยอดเยี่ยมของพระองค์ท่านในการมีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรตะวันออกการวินิจฉัยของพระองค์เวลาที่มีข้อขัดแย้งกันก็เต็มไปด้วยความแจ้งชัดและได้รับการคิดทบทวนมาแล้วอย่างดี
นักบุญเลโอ ได้เรียกประชุมพระสังคายนาที่เมืองคัลเชโดเนียในปี 451 ซึ่งได้กำหนดหรือให้คำนิยามถึงมนุษยภาพและพระเทวภาพพระบุคคลเดียวของพระเยซูคริสตเจ้า คำสั่งสอนต่างๆ ของพระองค์ได้มีอิทธิพลมากมายต่อพิธีจารีตโรมันในเทศาลพระคริสตสมภพ (ซึ่งพระองค์ได้เป็นผู้จัดเตรียมเอง)
พระองค์ได้ช่วยกรุงโรมให้พ้นจากการรุกรานของพวกฮั่นที่นำโดยจอมทัพอัตตีลา ในปี 452 และได้ประสบความสำเร็จในการที่จะให้พวกวังดัลของเยนเชวิค ได้หยุดการปล้นสะดมกรุงโรมในปี 455
บทเทศน์ 96 บทของพระองค์ที่เรามีอยู่นั้น เต็มไปด้วยคำสั่งสอนที่แจ้งชัด โดยใช้ภาษาง่ายๆ และสละสลวย นี่เป็นการรวบรวมสุนทรพจน์ของพระสันตะปาปาองค์หนึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นการทำให้มี “พระสมณสาสน์ของพระสันตะปาปา” ในเวลาต่อมา อันมีความสำคัญยิ่งยวดในการปกครองพระศาสนจักร นอกจากบทเทศน์ดังกล่าวแล้วนั้น ยังมีจดหมายอีก 173 ฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมดุลและความรู้สึกสำนึกอันลึกซึ้งในความรับผิดชอบที่พระองค์จะต้องให้บริการแก่ประชากรทุกๆคนขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เราคริสตชนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อพระสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ สำหรับบทภาวนาที่งดงามหลายๆบท และในหนังสือภาวนาสำหรับพระสงฆ์-นักบวช ก็ได้คัดบทเขียนของพระองค์มาไว้เหมือนกัน ลีลาการเขียนของพระสันตะปาปาเลโอยังมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ ในหนังสือเกี่ยวกับจารีตพิธีของพระศาสนจักร
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ขอให้เราได้เข้าใจถึงความสำคัญแห่งพระวาจาของพระผู้เป็นเจ้าในพิธีกรรม
2. ขอให้พระวาจาของพระผู้เป็นเจ้าช่วยเสนอแนะเราว่า เราควรจะต้องทำให้แต่ละวันของเรา มีชีวิตชีวาอย่างไร
3. ขอให้จิตตารมณ์ที่ทำงานอยู่เสมอ ที่อ่อนโยนและเข้มแข็งของนักบุญเลโอได้ช่วยนำพระศาสนจักร
4. ขอพระเยซูคริสตเจ้าโปรดบันดาลให้คริสตชนได้เป็นฝูงชุมพาแต่เพียงฝูงเดียวภายใต้การนำของนายชุมพาบาลแต่เพียงผู้เดียว
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, นครปฐม, วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน, 1985, หน้า 463-465)