คุณลักษณะคริสตชนแห่งสหัสวรรษที่สาม
โดย คุณพ่อ Kenan B. Osborne OFM ค.ศ.1996
ในจดหมายฉบับหนึ่งที่พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่สอง (ขณะนี้เป็นนักบุญแล้ว) เขียนถึงพระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์ สมณมนตรีของสมณกระทรวงว่าด้วยสัจธรรม (ขณะนี้คือ พระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ ที่ 16) ในช่วงทศวรรษ 1990 พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่สอง กล่าวถึงประเด็นใหญ่สองประการนี้
ขณะนี้พระศาสนจักรกำลังเผชิญความยากลำบาก ที่จะนำผลจากการประชุมสังคายนาวาติกันที่สอง สู่ภาคปฏิบัติในทุกระดับ
ฝ่ายหนึ่ง ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในพระศาสนจักรในด้านต่างๆ ต้องการให้พระศาสนจักรทันสมัย มีคำตอบแก่โลกสมัยใหม่ ฝ่ายนี้มีชื่อว่า “ฝ่ายก้าวหน้า” (progressivism)
อีกฝ่ายยังต้องการรักษาสิ่งดีงามไว้เหมือนเดิม ไม่ตอบรับการเปลี่ยนแปลง ต้องการรักษาธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ ฝ่ายนี้ได้ชื่อว่า “นักอนุรักษ์นิยม” (conservatism หรือ integralism)
ในจดหมาย (ที่ไม่ค่อยมีคนรู้) ฉบับเดียวกันนี้ พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่สอง ยังได้กล่าว่อสมรกระทรวงสัจธรรมว่า สังคายนาวาติกันที่สองได้เปิดประตูสำหรับการฟื้นฟู (renewal) ซึ่งแน่นอนย่อมรวมสิ่งใหม่(new) สิ่งค้นคิดใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน(novelty) และสิ่งใหม่เหล่านี้อาจประดังมาจนเลยเถิดไป (excess) ไปก็ได้ ในทางกลับกัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังอยากยึดของดั้งเดิมไว้ จึงทำให้ความก้าวหน้าที่พระศาสนจักรเห็นว่า จำเป็นเพื่อสัมพันธ์กับโลกปัจจุบันได้ ไม่สามารถดำเนินไปได้ พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่สอง จึงส่งสัญญาณเตือนให้สมณกระทรวงสัจธรรมในเรื่องนี้ แต่ให้สร้างความสมดุลระหว่างความก้าวหน้า และการรักษาความดีงามของธรรมประเพณี โดยยืนบนหลักสองประการนี้ คือ
I. คริสตวิทยา (Christology)
II เป็นลูกศิษย์พระคริสต์ประกาศข่าวดี (Gospel discipleship)
ผลของการเปลี่ยนแปลงจากสังคายนาวาติกันที่สองที่พระศาสนจักรประสงค์ คงจะแสดงออกจากการปฏิบัติตน และการดำเนินชีวิตของคริสตชนอย่างมีความสมดุลระหว่างฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยม เปรียบเสมือนขาและเท้าทั้งสองข้างต่างก็ก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว ขณะที่ ขา/ เท้าข้างหนึ่ง ก้าวไปข้างหน้า ขา/ เท้า อีกข้างหนึ่งก็ยังคงยืนบนพื้นเพื่อรับการยืนของร่างกาย
พระศาสนจักรจึงคาดหวังที่จะเห็นคุณลักษณะของคริสตชนในช่วงเริ่มต้นของสหัสวรรษที่สาม (ค.ศ.2001 ขึ้นไป) ด้วยอัตลักษณ์ต่อไปนี้
1. ความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะรู้ รู้จัก รัก และเข้าถึงพระเจ้าให้กระจ่างขึ้น พระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวง และนำเราให้รักพระองค์และบุคคลอื่นด้วย
2. ทำความรู้จักพระเยซู ผู้บังเกิดเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น ทำความเข้าใจกับพระวาจา คำสอนของพระองค์ พันธกิจของพระองค์ เอกลักษณ์ของพระองค์ รู้ รู้จัก พระอาณาจักรพระเจ้าบนโลก ข่าวดีของพระองค์ที่ให้ชีวิตแก่มนุษย์โดยเฉพาะผู้ยากไร้ทั้งในและนอกพระศาสนจักร คริสตชนแห่งสหัสวรรษที่สามตะเฝ้าดู และพินิจถึงคุณลักษณะของความเป็นผู้นำทั้งของสังคมและพระศาสนจักรด้วย
3. คริสตชนแห่งสหัสวรรษที่สาม จะจริงจังต่อความเสมอภาค (equality) ของความเป็นมนุษย์ โดยไม่แบ่งชั้นสีผิว ฐานะทางสังคม และการถือศาสนา ชุมชนใดที่ไม่เคารพต่อความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือว่าชุมชนนั้นต่อต้านข่าวดี (anti – gospel)
4. ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคริสตชนในสหัสวรรษที่สาม จะมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มคริสตชนนิกายต่างๆ และเปิดประตูใจและประตูบ้านสู่ความสัมพันธ์ และการสัมผัสที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
5. คริสตชนแห่งสหัสวรรษที่สามจะไม่ใช่รับข้อมูลของการมีส่วนร่วมจากฆราวาส (lay person) ให้มากขึ้น อันเป็นผลจากสังคายนาวาติกันที่สองเท่านั้น แต่ต้องการเห็นการปรับโครงสร้างของพระศาสนจักร โดยเฉพาะระดับวัด เพื่อวัตถุประสงค์นี้จะกลายเป็นจริงได้
6. ผลจากข้อ 5 จะเอื้ออำนวยให้คริสตชนแห่งสหัสวรรษที่สาม มีบทบาทมีส่วนร่วมในการกระทำ และการตัดสินใจพร้อมกับพระสงฆ์ นักบวช ชาย/หญิง สมาชิกชุมชนวัดในการร่วมกันบริหารวัด/ เขตวัด/ โรงเรียน / สถาบันต่างๆของวัด ด้วยความรู้ ทักษะ ความสามารถ และประสบการณ์จากกิจการงานทางโลก ควบคู่กับแนวทาง คำแนะนำ ฯลฯ ด้านศีลธรรม คำสอนและชีวิตจิตจากพระสงฆ์และนักบวช ฆราวาสจะมิใช่เป็นเพียงแต่ผู้รับแต่อย่างเดียว
7. ภาพลักษณ์ของพระศาสนจักรสำหรับคริสตชนแห่งสหัสวรรษที่สาม จะไม่ใช่เป็นภาพของพระอาณาจักร (regnum) และพระฐานันดรสงฆ์ (sacerdotium) แต่จะเป็นภาพของ “ประชากรของพระเจ้า” (ecclesia) ที่ได้รับพระพรแห่งความเชื่อและได้รับศีลล้างบาปที่รวมกันอยู่เป็นชุมชนของพระเจ้า ที่อยู่บนโลกนี้ท่ามกลางชุมชนเพื่อนมนุษย์อื่นๆที่อยู่ทั่วโลก (a pluralistic world)
8. คริสตชนแห่งสหัสวรรษที่สาม จะต้องมีพระวาจาในชีวิต และดำเนินชีวิตในพระวาจาตลอดเวลา เขา/เธอ จะต้องอ่าน รำพึง ภาวนา พระคัมภีร์/พระวรสารทุกวัน เพื่อที่เราจะได้เข้าใจคำสอนที่พระองค์ถ่ายทอดผ่านทางพระวรสาร และนไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ชีวิตของคริสตชนแห่งสหัสวรรษที่สามก็จะเปรียบเสมือนพระจันทร์ที่สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ (พระเยซูเจ้า) ให้แก่คนอื่น และเมื่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้เห็นแสงสะท้อนจากเรา เขาก็จะเห็นพระเยซูเจ้าด้วย พระเยซูเจ้าก็จะได้เป็น “แสงสว่างส่องนานาชาติ” (Lumen Gentium) จริงๆ
จากบทความ A profile of the baptized catholic Christian
at the Beginning of the Third Millennium
โดย คุณพ่อ Kenan B. Osborne OFM.
นิตยสาร The Catholic World ฉบับ Jan/Feb, 1996
(ที่มา : ราฟาแอล, 2016 ชีวิตนี้ห้ามสอบตก, กรุงเทพฯ หน้า 49 -52)