19 ตุลาคม
นักบุญเปาโล แห่ง ไม้กางเขน
(1694 – 1775)
พระสงฆ์
นักบุญเปาโล แห่ง ไม้กางเขน เกิดที่โอวาดา จากครอบครัวที่ได้รับการทดลองอย่างหนัก ครั้งแรกท่านได้ไปเป็นทหารและเมื่อมีอายุได้ 26 ปี ท่านได้รับ “เครื่องแบบสีดำแห่งการใช้โทษบาป” จากสังฆราชแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศอิตาลี) และได้เขียนวินัยสำหรับคณะนักบวชของท่านในอนาคต ท่านดับน้องชายยอห์นได้มุ่งหน้าสู่ภูเขาอาร์เยนตารีโอ (ออร์เบเตลโล) เพื่อจะเจริญชีวิตแบบฤาษีธุดงค์ แต่ว่าในวันฉลองท่านทั้งสองก็ลงจากภูเขาไปในหมู่บ้านเพื่อเทศน์สอน เป็นต้นเทศน์สอนเรื่องพระทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า
ในปี 1737 ท่านได้ตั้งคณะนักบวชชาย “ปาสซีโอนิสตี” และต่อมาท่านก็ได้ตั้งคณะนักบวชหญิงแบบเดียวกันด้วย อุดมการณ์ของนักบวชคณะนี้ คือ อุทิศตัวเองและเป็นพยานยืนยันถึงรหัสธรรมแห่งไม้กางเขนในชีวิตของตนและในการเทศน์สอน ซึ่งในขณะนั้นรหัสธรรมแห่งไม้กางเขนได้ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริงจากพวกวิมัตินิยม
ไม่มีอะไรที่จะมาดับหรือหยุดยั้งความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าของท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกดูหมิ่นสบประมาท การมีสุขภาพที่ย่ำแย่ หรือ แม้แต่การถูกทดลองทางด้านจิตใจก็ตาม
นักบุญเปาโลแห่งไม้กางเขน เป็นนักเพ่งฌานที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ท่านได้รักษาชีวิตจิตใจของท่านให้สดใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ จนกระทั่งถึงวัยชรา ดังนั้น ในบทเขียนต่างๆของท่านจึงมีเสน่ห์ดึงดูดใจเป็นพิเศษในฐานะที่ท่านเป็นพระสงฆ์วิญญาณรักษ์ ท่านได้พยายามสอนให้ลูกวิญญาณของท่านมีความไว้วางใจและความกล้าอยู่เสมอ ท่านบอกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องสำรวจพิจารณามโนธรรมละเอียดถี่ยิบและต้องไม่ท้อถอยหมดมานะเพราะความผิดบาปของตน
ในปี 1845 พระคาร์ดินัลนิวแมน ได้มีจดหมายไปเรียกคุณพ่อโดมินิโก นักบวชคณะปาสซีโอนิสตีของนักบุญเปาโลแห่งไม้กางเขน ให้ไปต้อนรับพวกที่ได้กลับใจพวกแรกของอ๊อกฟอร์ดที่เมืองลิตเติ้ลโมร์ พวกนี้เป็นบุคคลสำคัญทั้งนั้น และเป็นพวกผู้ก่อตั้งองค์กรอบรมด้านจิตใจด้วย
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1.ขอให้เราทุกคนได้ตระหนักว่า การรักพระคริสตเจ้าก็คือการรักไม้กางเขน ซึ่งเป็นท่อธารแห่งชีวิต
2.ขอให้พระทรมานของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นหมายสำคัญแห่งความรัก อย่าทำให้เราต้องโศกเศร้าเสียใจ
3. ขอให้นักบุญเปาโลแห่งไม้กางเขน ช่วยดลใจให้เรามีความกล้าหาญในพระผู้เป็นเจ้าผู้ช่วยให้รอด
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, นครปฐม, วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน, 1985, หน้า 431 – 433)