ค่ายอบรม “ยุวธรรมทูตกับงานศาสนสัมพันธ์ ระดับประถมฯ (ป.4-6)
วันวันศุกร์ ที่ 30 - 31 ส.ค. ถึง 1 ก.ย. 2013/2556 แผนกสนับสนุนงานธรรมทูต จัดค่ายอบรม “ยุวธรรมทูตกับงานศาสนสัมพันธ์” ระดับชั้นประถมศึกษา (ป.4-6) นำโดยคุณพ่อสมเกียรติ บุญอนันตบุตร ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูตและผู้อำนวยการหน่วยงานยุวธรรมทูตอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ยุวธรรมทูตเข้าร่วมทั้งสิ้น 38 คน คุณครู 7 ท่าน จาก 7 โรงเรียนได้แก่ ร.ร.เซนต์โยเซฟ คอนเวนต์ ร.ร.อัสสัมชัญศึกษา ร.ร.เซนต์คาเบรียล ร.ร.เซนต์หลุยส์ศึกษา ร.ร.พระวิสุทธิวงศ์ ร.ร.ซางตาครู้สศึกษา และ ร.ร.ยอแซฟฯ แผนกสามัญหญิง
การอบรมถูกจัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนคาทอลิกได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนของศาสนา สร้างความเข้าใจต่อเพื่อนต่างความเชื่อ ตื่นตัว เกิดความตระหนักในศาสนาที่ตนเองนับถือ รู้จักไตร่ตรอง ตลอดจนดำเนินชีวิตโดยอาศัยหลักธรรมทางศาสนา และรู้จักให้ความเคารพ ให้เกียรติ เสียสละ สามารถไปเผยแพร่และเป็นประจักษ์พยานถึงองค์พระเยซูเจ้าให้กับผู้ที่พบเห็นทั้งในโรงเรียนและเขตวัดของตนเองได้
ตลอดระยะเวลาการอบรม ยุวธรรมทูตได้เข้ารับการอบรมในหัวข้อต่างๆ ได้แก่
- เด็กๆ ก็สามารถแพร่ธรรมได้ “เป็นศิษย์เพื่อสร้างศิษย์”
ยุวธรรมทูตได้เรียนรู้ประวัติการก่อตั้งสมณองค์กรยุวธรรมทูตและเรื่องราวของพระเยซูเจ้าที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับเด็กๆ มาก และได้เรียนรู้จักการภาวนาในรูปแบบต่างๆ ได้ฝึกจิตภาวนา ได้ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเริ่มจากเพื่อนๆ ใกล้ตัวโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ได้ฝึกการวางแผนร่วมกัน และยังได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของความสามัคคีกันในกลุ่ม เด็กสามารถแพร่ธรรมได้โดยอาศัยความซื่อของ เขาเอง ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเคยตรัสไว้ว่า “ปล่อยให้เด็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเขาเลย เพราะ พระอาณาจักรของพระเจ้า เป็นของคนที่เป็นเหมือนเด็กเหล่านี้” (ลก18:16)
- ศาสนาหลักในประเทศไทย
ในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายศาสนาแต่มีเพียง 5 ศาสนาเท่านั้นที่ทางรัฐบาลไทยให้การยอมรับนั้นคือ
- ศาสนาพุทธ – พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแผ่ยังประเทศไทย หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วประมาณ 200 กว่าปี โดยพระเถระ 2 รูป มาประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศครั้งแรก ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบ ก็น่าจะเป็นจังหวัดนครปฐม
- คริสต์ศาสนา – เริ่มเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2110 โดยมี พระสงฆ์ (บาทหลวง) ซิสเตอร์ นักบวชคณะต่างๆ นอกจากนี้ยังมีฝ่ายโปรเตสแตนท์ซึ่งแตกออกไปอีกหลายกลุ่ม จึงมีกลุ่มองค์การคริสต์ศาสนาที่ได้รับการรับรองอีก 4 กลุ่ม คือ
- สภาคริสตจักรในประเทศไทย
- สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย
- สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
- มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นเดย์ แอ๊ดเวนติสแห่งประเทศไทย
- ศาสนาอิสลาม – ผู้นับถือศาสนาอิสลามเรียกว่า “มุสลิม” ชาวมุสลิมนับถือพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวคือ อัลลอฮฺ ศาสนทูตมุฮัมหมัด คือ ศาสดา
แก่นแท้ของศาสนาอิสลามคือการนำไปสู่ทางรอดอย่างปลอดภัยตามหลักศาสนาอิสลามนั้นคือ
- เตาฮีด (การให้เอกภาพต่อพระเจ้า)
- อิตติบาอฺ (ปฏิบัติตามแบบอย่างท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด)
ศาสนาอิสลามจึงได้กำหนดหลักธรรมคำสอนไว้เป็นรากฐานของศาสนาเป็น 3 หลักการใหญ่ๆ คือ
- หลักการศรัทธามี 6 ประการ
- หลักปฏิบัติมี 5 ประการ
- หลักคุณธรรมจริยธรรม
ซึ่งทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับแก่นแท้ของศาสนาทั้งสิ้น
- ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู – มีจุดมุงหมายคือนำบุคคลไปสู่ความหลุดพ้น ความหลุดพ้นในที่นี้หมายถึงหลุดพ้นทั้งจากกองกิเลสและกองทุกข์ และเมื่อหลุดพ้นไปแล้วก็จะกลายเป็นเอกภาพ มีภาวะเป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับพระปรมาตมัน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไม่ปรากฏว่ามีศาสดา แต่มีพระคัมภีร์ต่างๆ มากมาย
- ศาสนาซิกข์ – ชาวซิกข์มีลักษณะแต่งกายที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เช่น การโพกศีรษะ การไว้หนวดเครา ซึ่งการไว้เคราไว้ผมและการสวมใส่กำไลเหล็กที่ข้อมือขวา มีทั้งหญิงและชาย ผมของผู้หญิงก็จะไม่ตัดเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาเป็นลักษณะของคนที่เรียกตนเองว่า “ซิกข์”
- จิตตารมณ์ยุวธรรมทูต
ยุวธรรมทูตจำเป็นต้องมีจิตตารมณ์ยุวธรรมทูต คือ
- รู้คำสอนของพระเยซูเจ้าและของพระศาสนจักร
- รักที่จะสวดภาวนา ทำกิจศรัทธา และร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณต้องทำตัวเองให้อยู่ใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้าให้มากที่สุดโดยการหมั่นรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท
- รับใช้ซึ่งกันและกัน รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นทั้งกายและใจ
- ก้าวไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งกัน มีชีวิตกลุ่มที่สนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าโดยผ่านทางเพื่อนๆ ในกลุ่ม
- ศาสนสัมพันธ์คืออะไร
ศาสนสัมพันธ์ไม่ใช่การโต้ธรรมะ ไม่มีการถกเถียงเพื่อเอาแพ้เอาชนะ เพราะการโต้เถียงมิได้หมายความว่าเกิดความเข้าในอย่างแท้จริง เพราะระหว่างการโต้เถียงก็ไม่มีการฟังอย่างแท้จริง การทำศาสนสัมพันธ์ ต้องปราศจากความคิดอำนาจนิยม ต้องไม่สุดโต่ง ถือว่าสิ่งที่ฉันถืออยู่เท่านั้นที่ถูกต้อง เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเรียนรู้อะไรอื่น มีอคติ มีความคิดแคบ ซึ่งจะไม่เกิดการเสวนาที่แท้จริง ไม่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนความเชื่อของคู่เสวนา ไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องทั่วๆไป หรือเรื่องศาสนาแต่เพียงผิวเผิน หรือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางศาสนา ไม่ใช่ทำครั้งเดียวเลิก ไม่ใช่ผสมผสานศาสนา เอาสิ่งดีมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่เป็นการทำให้ศาสนาดีเหมือนกันหรือดีเท่ากันหมด แต่ละศาสนาคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของตน ดีคนละแบบ
ศาสนสัมพันธ์เป็นกระบวนการพูดและการฟัง การให้และการรับ แสวงหาและแบ่งปัน เป็นการเปิดตัวเองรับรู้ประสบการณ์ทางศาสนาของผู้อื่น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางศาสนา ในชีวิตของแต่ละคนมีความลึกซึ้งไม่เหมือนกัน เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเสมอกัน มีความจริงใจและวางใจ ต้องมั่นใจว่าการเสวนาไม่มีกลยุทธ์ใดแอบแฝง ยอมรับความจริงใจ ความผิดบกพร่องของตนเอง และของศาสนิกในศาสนาของตนทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นพยานถึงศาสนาของตน ด้วยความเชื่อมั่นและยึดมั่นในขนบประเพณีของตน แสดงออกด้วยความเคารพ สุภาพ ซื่อตรง มีไมตรีจิตต่อกัน มีแรงจูงใจทำการเสวนาที่มาจาก “ความรัก” ตาม คำสอนของศาสนา ส่งเสริมความเข้าใจ และสัมพันธภาพ ความปรองดอง และการเป็นเพื่อน ความร่วมมือกันและสันติ
- แนวทางการทำศาสนสัมพันธ์ในชีวิต
ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ รู้จักกาลเทศะ รู้จักพูด รู้จักฟัง รู้จักถาม แสดงความสนใจ ปฏิบัติตามมารยาทไทยและสมบัติผู้ดี ถือธรรมเนียมของศาสนานั้นๆ เช่นการใช้ภาษา รู้จักการแสดงความเคารพต่อสถานที่ ประพฤติตัวให้เหมาะสม ควรสอบถามเมื่อไม่แน่ใจ ควรสงวนท่าทีไม่แสดงอาการหรือกิริยาที่ไม่เหมาะสมในสิ่งที่แตกต่างทางความเชื่อหรือการปฏิบัติสำนึกเสมอว่ายังมีสิ่งที่ไม่รู้เราสามารถเรียนรู้จากผู้อื่นได้ ภาษาธรรมที่ใช้กันนั้นมีความลึกซึ้งและมีความเข้าใจที่แตกต่างกันมาก จึงจำต้องมีการซักถามเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันอธิบายหลักธรรมของศาสนาตามความจริงไม่คล้อยตามความคิดเห็นหรือความเข้าใจคู่เสวนา เมื่อเริ่มเสวนาการพิจารณาในความเหมือน หรือความคล้ายคลึงซึ่งแต่ละศาสนามีเป็นส่วนใหญ่ ยอมรับด้วยความสุภาพว่าเราไม่มีความรู้ความเข้าใจในหลายๆเรื่องและต้องขอเวลาไปศึกษา เพื่อไม่สร้างความเข้าใจผิดให้กับคู่เสวนา
- กิจกรรม Walk Rally
ได้แบ่งให้ยุวธรรมทูตเป็นกลุ่ม 5 กลุ่ม มี 5 ฐาน ทุกกลุ่มจะต้องเข้ารับการอบรมเป็นกิจกรรมในฐานทุกฐาน แต่ละฐานเป็นเหตุการณ์จำลองจากเหตุการณ์ในโลกปัจจุบันที่เกิดขึ้นจริง ยุวธรรมทูตจึงต้องเรียนรู้โลกภายนอกผ่านทางกิจกรรม Walk Rally นี้
- ฐาน ไว้ใจ สอนให้ยุวธรรมทูตต้องหัดมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเอง ก่อนที่จะไปไว้ใจผู้อื่น และฝึกกระบวนการคิดตัดสินใจก่อนที่จะเชื่อผู้อื่นหรือไว้ใจผู้อื่น เป็นการฝึกการแสดงความจริงใจ
- ฐานช่วยเหลือ ยุวธรรมทูตจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจ และรู้จักวางแผนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ ทุกคนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันจึงจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคนั้นไปได้
- ฐานซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่ยุวธรรมทูตต้องมีโดยเริ่มที่จะซื่อสัตย์ต่อตนเองในเรื่องเล็กน้อยก่อน ถึงจะสามารถซื่อสัตย์กับเพื่อนหรือหมู่คณะได้ ยุวธรรมทูตต้องรู้จักตักเตือนซึ่งกันและกันด้วยเมื่อเห็นเพื่อนทำผิด
- ฐานศาสนสัมพันธ์ ยุวธรรมทูตต้องออกไปประกาศข่าวดีท่ามกลางความเชื่อที่แตกต่างกัน เขาจึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ ให้มากที่สุด เป็นการฝึกการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ โดยอาศัยความร่วมมือกับเพื่อนๆ ช่วยเหลือกัน
- ฐานเสียสละ ยุวธรรมทูตต้องทำงานประกาศข่าวดีเป็นกลุ่มที่ยังเล็กอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องออกแรงกาบแรงใจให้หน่อย ดังนั้นยุวธรรมทูตจึงจำเป็นที่จะต้องมีความเสียสละมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น ยุวธรรมทูตต้องออกจากตนเองมากขึ้น เพื่อประโยชน์ส่วนร่วม
- กิจกรรมร้อยลูกปัด
ในตอนเย็นยุวธรรมทูตได้เข้ารับการอบรมเรื่องของการเป็นผู้นำผ่านทางกิจกรรมร้อยลูกปัด ซึ่งเป็นการฝึกให้ยุวธรรมทูตนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัวหรือประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากค่ายในครั้งนี้มาใช้
กิจกรรมร้อยลูกปัดเป็นกิจกรรมที่สร้างความเป็นผู้นำให้กับยุวธรรมทูต ฝึกความกล้าที่จะแสดงออกในทางที่ถูกต้อง ฝึกการรับฟังเพื่อนๆ อย่างมีเหตุผล ฝึกการไว้ใจและตัดสินใจ ฝึกความสามัคคี การให้อภัย และฝึกเรื่องของความรักกันในกลุ่มยุวธรรมทูต
- ยุวธรรมทูตกับงานศาสนสัมพันธ์ในโรงเรียน
ในวันนี้เป็นการทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ยุวธรรมทูตได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของข้อความเชื่อของศาสนาคริสต์ ที่ยุวธรรมทูตจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติตามให้ได้ ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ ที่พระศาสนจักรกำหนดขึ้นมารวมถึงบทบัญญัติต่างๆ ของพระเยซูเจ้า ยุวธรรมทูตสามารถนำมาเป็นแนวทางสำหรับการประกาศข่าวดีในโรงเรียนของตนได้
- ก่อนปิดการอบรม “ยุวธรรมทูตกับงานศาสนสัมพันธ์ได้มีพิธีบูชาขอบพระคุณและมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ โดยคุณพ่อสมเกียรตื บุญอนันตบุตร ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูตและผู้อำนวยการหน่วยงานยุวธรรมทูต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นผู้มอบเกียรติบัตร และถ่ายรูปหมู่ร่วมกันก่อนที่บรรดายุวธรรมทูตจะแยกย้ายกันกลับไปประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าให้กับเพื่อนต่างความเชื่อในโรงเรียนของตนเอง
วิดีโอ
ประมวลภาพ
{gallery}net/30AUG-1SEP13{/gallery}