ค่ายอบรมยุวธรรมทูตกับงานศาสนสัมพันธ์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-ม.3
วันศุกร์ที่ 23-25 สิงหาคม 2013/2556 หน่วยงานธรรมทูต แผนกสนับสนุนงานธรรมทูต จัดค่ายอบรม “ยุวธรรมทูตกับงานศาสนสัมพันธ์” ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) นำโดยคุณพ่อสมเกียรติ บุญอนันตบุตร ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูตและผู้อำนวยการหน่วยงานยุวธรรมทูต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
มียุวธรรมทูตมาเข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 52 คน คุณครู 10 ท่าน จาก 10 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร. อัสสัมชัญคอนแวนต์ ร.ร.แม่พระฟาติมา ดินแดง ร.ร.พระหฤทัยพัฒนเวศม์ ร.ร.เซนต์คาเบรียล ร.ร.เซนต์เทเรซา ร.ร.มารดานฤมล ร.ร.ยอแซฟอุปถัมภ์ แผนกสามัญชาย ร.ร.ยอแซฟอยุธยา ร.ร.พระวิสุทธิวงศ์ และ ร.ร.ลาซาล
การอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักเรียนคาทอลิกในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) ได้ดำเนินชีวิตยึดมั่นในความเชื่อ มีความเป็นคริสตชน โดยยึดหลักการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูคริสตเจ้า สามารถไปเผยแพร่ ประกาศพระวาจาและประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า แก่เพื่อนๆ บุคคลรอบข้างและเป็นประจักษ์พยานถึงองค์พระเยซูเจ้าได้ ทั้งในโรงเรียนและวัดของตนเอง รู้จักให้ความเคารพ ให้เกียรติ เห็นอกเห็นใจและเสียสละ สร้างความสามัคคีกันภายในกลุ่ม
ตลอดระยะเวลาการอบรม ยุวธรรมทูตได้เข้ารับการอบรมในหัวข้อต่างๆ ได้แก่
- มิติ 4 ด้านของการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซู (รู้ รัก รับใช้ ก้าวไปด้วยกัน)
ยุวธรรมทูตได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระเยซูเจ้า รวมทั้งประวัติการก่อตั้งสมณองค์กร ยุวธรรมทูตรวมทั้งการภาวนาแบบยุวธรรมทูต การภาวนาด้วยการนิ่งเงียบ เป็นการฝึกจิตภาวนา การช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งด้านปัจจัยและคำภาวนา ยุวธรรมทูตสามารถช่วยเหลือเพื่อนๆ เด็กๆ ได้ด้วยคำภาวนาซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและเร็วที่สุด และยังได้เรียนรู้จักการสร้างความสามัคคีในกลุ่ม การวางแผนงานและ การแสดงความคิดเห็น
การที่จะเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้าได้นั้นจำเป็นต้องรู้คำสอนของพระเยซูเจ้าและนำคำสอนนั้นมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน การภาวนาต่างๆ การช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และการสร้างสันติสุข สร้างความรักให้เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น ศิษย์ที่ติดตามพระเยซูเจ้าจึงต้องมี มิติ 4 ด้านนี้ ถึงจะสามารถติดตามพระองค์ได้อย่างดี
- ศาสนาหลักในประเทศไทย
ในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายศาสนาแต่มีเพียง 5 ศาสนาเท่านั้นที่ทางรัฐบาลไทยให้การยอมรับนั้นคือ ศาสนาพุทธ คริสต์ศาสนา ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์ฮินดูและศาสนาซิกข์
- การภาวนาของยุวธรรมทูต
จุดประสงค์ของการภาวนามีอยู่ 4 ข้อ คือ เพื่อสรรเสริญพระเจ้า ขอบคุณพระองค์ ขอโทษพระองค์และขอพรจากพระองค์
บทภาวนาที่ยุวธรรมทูตควรจำให้ได้และเป็นแนวทางสำหรับการเป็นคริสตชนที่ดี ได้แก่ บทข้าพเจ้าเชื่อ (บทยืนยันความเชื่อ) พระบัญญัติ 10 ประการ พระบัญญัติของพระศาสนจักร บาปต้น 7 ประการ พระคุณพระจิต 7 ประการบทเหล่านี้ ยุวธรรมทูตควรจำและปฏิบัติให้ได้
- จิตตารมณ์ยุวธรรมทูต
การเป็นยุวธรรมทูตต้องจำเป็นต้องรู้เรื่องราวของพระเป็นเจ้า คือต้องหมั่นอ่านพระคัมภีร์และท่องบทภาวนาต่างๆ ให้ได้ ต้องขยันที่จะภาวนา วอนขอพระพรจากพระเจ้า โดยการเข้าร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในโอกาสต่างๆ ต้องกล้าที่จะแสดงตนว่าเป็นคริสตชน และคอยช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งทางกายและใจโดยการออกจากตนเอง ช่วยโดยไม่หวังผลหรือมีข้ออ้างใดๆ หยิบยื่นความช่วยเหลือแม้ว่าเขาไม่ต้องการ ใช้ชีวิตกลุ่ม ก้าวไปพร้อมกัน ด้วยการทำความดี
- ความหมายของศาสนสัมพันธ์
หมายถึง การเสวนารวมทั้งความสัมพันธ์ทางบวกและสร้างสรรค์ระหว่างศาสนา แบบบุคคลต่อบุคคลและแบบหมู่คณะต่อหมู่คณะของผู้ที่มีความเชื่อที่แตกต่างกัน เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและเพิ่มพูนกันและกัน โดยกระทำทั้งในบรรยากาศของความเคารพต่อความจริงและอิสรภาพ รวมทั้งการเป็นพยานยืนยันและการออกไปค้นหาความเชื่อในศาสนาของตนเอง
- วิถีชีวิตและหลักปฏิบัติของคริสตชนที่ควรกระทำต่อศาสนาอื่น
วิถีชีวิตและหลักปฏิบัติเพื่อไม่ให้เราทำผิดต่อความเชื่อตามแนวทางของสภาพระสังฆราชฯ คือ
- คริสตชนจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของพิธีกรรมนั้น เพื่อช่วยให้เราไม่ทำผิดต่อความเชื่อของเรา
- สภาพแวดล้อม เราควรหลีกเลี่ยงการกระทำตามบางอย่างที่เราไม่ควรทำ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรหาผู้อื่นกระทำแทน
- เจตนาการกระทำของเราขึ้นอยู่ที่ความคิดของเราทำไปโดยไม่รู้ไม่ถือว่าผิด แต่ถ้ารู้แล้วยังทำถือว่าผิด
คริสตชนที่จำเป็นที่จะต้องไปมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาของศาสนาอื่น เพื่อรักษาความเชื่อของตนเองไว้ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องพิจารณาถึง
- Passive participation อยู่ในพิธี (การมีส่วนร่วมโดยไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่ร่วมด้วยความเคารพ)
- Active participation การเข้ามีส่วนร่วมในพิธีแบบจำเป็นต้องทำ โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ ที่ต้องพิจารณา คือ
- การกระทำของฉันขัดต่อคำสอนหรือข้อความเชื่อของคริสตชนหรือไม่
- การกระทำของฉันเป็นที่สะดุดต่อคริสตชนหรือคนในสาสนาอื่นหรือไม่
ถ้าตอบว่า “ไม่” ทั้งสองข้อ ถือว่าปฏิบัติได้
ถ้าตอบว่า “ใช่” แม้แต่ข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่าทำไม่ได้
- ในตอนบ่ายมีกิจกรรมฐานจำลองเหตุการณ์สถาการณ์ของสังคมด้านต่างๆ เพื่อยุวธรรมทูตใน 5 เรื่องที่สำคัญต่อการประกาศข่าวดี คือ
- ฐานไว้ใจ ยุวธรรมทูตต้องมีความไว้ใจซึ่งกันและกัน ต้องหัดไว้ใจเพื่อนๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวก่อนที่จะไว้ใจผู้อื่นได้
- ฐานช่วยเหลือ ยุวธรรมทูตจะต้องสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ จึงจะสามารถช่วยเหลือผุ้อื่นในสังคมได้
- ฐานซื่อสัตย์ ยุวธรรมทูตจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์ โดยเริ่มที่ตนเองก่อนที่จะมีกับผู้อื่น ซึ่งเป้นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูคริสตเจ้า
- ฐานศาสนสัมพันธ์ เรียนรู้เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถนำมาประยุกต์เป็นแนวทางการอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ต่างความเชื่อได้
- ฐานเสียสละ เป้นสิ่งที่ยุวธรรมทูตไม่ควรขาดเลยเข็ดขาด เพราะจำเป็นที่จะต้องใช้ในการทำงานและการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม
- ในตอนเย็นได้มีกิจกรรมเพื่อฝึกให้ยุวธรรมทูตมีความกล้าที่จะเป็นผู้นำ กล้าที่จะแสดงตน แสดงความคิดเห็น กล้าที่จะแสดงออกในทางที่ดีที่ถูกต้อง และฝึกความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น หัดไว้ใจเพื่อนๆ และรู้จักการให้อภัย การขอโทษ การสำนึกผิด รู้ว่าผิดก็ต้องขอโทษและกลับตัวกลับใจใหม่ ด้วยกิจกรรม เกมชีวิต (X,Y)
- มโนธรรมของคริสตชน
คุณพ่อสมเกียรติ บุญอนันตบุตร ได้ให้ความรู้เรื่องของเสรีภาพหรืออำเภอใจของมนุษย์ที่ พระเป็นเจ้าทรงประทานให้กับเรามนุษย์ พระเจ้าทรงสร้างเรามาด้วยความรัก สร้างเราให้ดีกว่าสิ่งสร้างอื่นๆ คือ ทำให้เรามีวิญญาณ รู้ดีรู้ชั่ว และทรงทำให้เรามีเสรีภาพหรืออำเภอใจ พระองค์ทรงประทานสติปัญญา ความคิดอ่าน เราจึงจำเป็นที่จะต้องใช้อำเภอใจหรือเสรีภาพของเราให้ถูกต้องด้วยการไม่เห็นแก่ตัว
อำเภอใจหรือเสรีภาพที่พระให้กับเรามา คือ “มโนธรรม” ซึ่งประกอบด้วย 3 สิ่ง คือ
- เสียงของพระเจ้าที่ดังก้องในใจของมนุษย์ทุกคน (จงทำสิ่งดีละเว้นสิ่งชั่ว) คุณค่าของมนุษย์ตัดสินที่ความดีและความชั่ว
- กฎของพระเจ้าที่จารึกอยู่ในใจของมนุษย์ เรียกร้องให้รักสิ่งดี ละเว้นสิ่งชั่ว ผลของการกระทำดีจะทำให้เรามีเกียรติและศักดิ์ศรี ถ้าทำชั่วก็จะได้รับการลงโทษ พระเจ้าทรงช่วยเราโดยผ่านทางศีลอภัยบาป เราจึงต้องพิจารณามโนธรรมและสำนึกผิด เป็นทุกข์ถึงบาป และใช้โทษบาปโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ถูกต้อง
- ตัวเราเองเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าหรือเป็นตัวแทนของพระเจ้ากลายเป็นความรู้ดีรู้ชั่ว มนุษย์ทุกคนต้องมีความนอบน้อมต่อพระเจ้าและต่อร่างกายของตนเอง โดยไม่มีเงื่อนไขและไว้ใจในพระเจ้าว่าจะทรงช่วยเราไม่ให้แพ้ต่อการประจญของปีศาจ
- ก่อนปิดการอบรม ได้มีพิธีบูชาขอบพระคุณและมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้นี้โดยคุณพ่อสมเกียรติ บุญอนันตบุตร ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูตและผู้อำนวยการหน่วยงานยุวธรรมทูต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นผู้มอบเกียรติบัตร และกล่าวปิดการอบรม ถ่ายภาพร่วมกันก่อนบรรดายุวธรรมทูตจะแยกย้ายกันกลับไปประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าให้กับเพื่อนผู้มีความเชื่ออื่นในโรงเรียนของตนเองได้ฟัง
วิดีโอ
ประมวลภาพ
{gallery}net/23-25AUG13{/gallery}