สัญลักษณ์ในคริสต์ศาสนา
สมอเรือ(Anchor) เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาของความหวังและความมุ่งมั่น โดยมีที่มาจากจดหมายถึงชาวฮีบรูว่า “ความหวังที่เรายึดนั้น เปรียบประดุจสมอเรือที่แน่วแน่และมั่นคงแห่งจิตใจ” (ฮีบรู 6:19) ความหมายของสมอเรือในแง่ของสัญลักษณ์พบได้ตามกาตาคอม (Catacomb) อุโมงค์ฝังศพใต้ดินของโรมโบราณ และอัญมณีสลักของชาวคริสต์ยุคก่อน สมอเรือใช้เป็นเครื่องหมายของนักบุญคลีเมนต์ ผู้ถูกลงทัณฑ์โยนลงทะเล มีสมอเรือถ่วงคอ และนักบุญนิโคลาสแห่งเมืองไมรา (St. Nicholas of Myra) ซุ่งเป็นนักบุญผู้พิทักษ์ชาวทะเล
เสื้อเกราะ (Armor) เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและรักเกียรติของอัศวิน จึงใช้เป็นเครื่องหมายของบรรดานักบุญนักรบ อาทิ นักบุญจอร์จ และอัครเทวดามีคาแอล นอกจากนี้ เสื้อเกราะยังเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาในคริสตศาสนาเป็นสิ่งป้องกันความชั่วร้ายได้ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ในจดหมายถึงชาวเอเฟซัสว่า “จงสวมเสื้อเกราะแห่งพระผู้เป็นเจ้า เพื่อท่านจะต่อต้านเล่ห์กลของพญามารได้... เอาความชอบธรรมเป็นแผ่นเกราะป้องกันหน้าอก... เอาความศรัทธาเป็นโล่ เอาความหลุดพ้น (จากบาป) เป็นหมวกเหล็ก และติดดาบแห่งพระจิตเจ้า ซึ่งก็คือพระวาจาของพระผู้เป็นเจ้า” (เอเฟซัส 6:11)
ลูกธนู (Arrow) โดยทั่วไปใช้เป็นเครื่องหมายของอาวุธแห่งจิตซึ่งอุทิศให้กับการรับใช้พระเจ้า นอกจากนี้ลูกธนูยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของความตาย และอาวุธที่ใช้ประหารนักบุญหลายท่าน ด้วยเหตุนี้ รูปนักบุญเซบาสเตียนและนักบุญอูร์ซูลาจึงมักมีลูกธนูเสียบอยู่ เพราะทั้งสองท่านต้องทนทุกข์ทรมานจากลูกธนู นอกจากนี้ ลูกธนูยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของโรคระบาดด้วย เนื่องจากนักบุญเซบาสเตียนซึ่งรอดชีวิตจากการถูกลงทัณฑ์ด้วยลูกธนู เป็นหนึ่งในนักบุญที่ปกป้องผู้ตกเป็นเหยื่อของโรคระบาด
คันธนู (Bow) เป็นสัญลักษณ์ของสงครามและอำนาจในโลก ดังที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับประกาศกเยเรมีย์ว่า “ดูเถิด เราจะหักคันธนูของเอลาม ผู้เป็นหัวใจแห่งพลังของพวกเขาทั้งหลาย” (เยเรมีย์ 49 : 35)
ลูกบอลล์หรือกระเป๋าสตางค์ (Balls หรือ Purses) เป็นเครื่องหมายหนึ่งของนักบุญนิโคลาสแห่งไมรา โดยใช้เป็นสัญลักษณ์ของเงินที่นักบุญท่านนี้โยนเข้าไปทางหน้าต่างบ้านของขุนนางผู้ยากจน เพื่อให้ลูกทั้งสามของเขามีเงินสินเดิมเพื่อใช้ในการแต่งงาน
ธง (Banner) ที่มักมีรูปไม้กางเขนอยู่ด้วย เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ โดยมีที่มาจากเรื่องราวของจักรพรรดิคอนสแตนตินผู้ทอดพระเนตรเห็นไม้กางเขนในหมู่เมฆ จึงทรงหันมานับถือศาสนาคริสต์ และใส่รูปไม้กางเขนบนธงของพระองค์ ในคริสต์ศิลปะ พระแมสสิยาห์มักทรงถือธงไม้กางเขเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของพระองค์เหนือความตาย พระคริสต์มักทรงถือ ธงในรูปที่กำลังเสด็จออกจากหลุมฝังพระศพ นักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง มักถือธงไม้กางเขน หรือธงที่มีถ้อยคำจารึกว่า “จงดูพระเมสสิยาห์” (Ecce Agnus Dei) นอกจากนี้ธงยังใช้กับนักบุญนักรบหลายท่าน รวมทั้งนักบุญผู้นำพระวาจาไปเผยแพร่ยังดินแดนต่างๆ
รังผึ้ง (Beehive) เป็นสัญลักษณ์ของคำพูดที่โน้มน้าวจิตใจดังสำนวน “วาจาอาบน้ำผึ้ง” (Honeyed Words) รังผึ้งใช้เป็นเครื่องหมายของนักบุญเบอร์นาร์ดแห่งเมืองแคลร์โวซ์ (St. Bernard of Clairvaux) และนักบุญอัมโบรส ผู้ขึ้นชื่อว่า มีคำพูดโน้มน้าวใจที่หวานปานน้ำผึ้ง
หนังสือ (Book) ในศิลปะยุคเรอเนซองส์ หนังสือในมือของผู้นิพนธ์พระวรสารและอัครสาวก เป็นสัญลักษณ์ของพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ แต่หนังสือในมือของนักบุญสเทเฟน เป็นสัญลักษณ์ของพันธสัญญาเดิม และถ้าอยู่ในมือของนักบุญท่านอื่นๆ จะมีความหมายว่านักบุญท่านนั้นๆ มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการหรือการขีดเขียน ด้วยเหตุนี้ หนังสือจึงปรากฏในภาพของนักบุญแคทเธอรีนแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย นักบุญโทมัส อไควนัส นักบุญเบอร์นาร์ด แห่งเมืองแคลร์โวซ์ และบรรดาธรรมาจารย์ หนังสือที่มีตัวอักษร อัลฟา (A) และโอเมกา (W) ใช้เป็นเครื่องหมายของพระเยซู พระนางมารีย์พรหมจารีมักมีหนังสือปิดผนึกอยู่ในมือ นักบุญออกุสตินปรากฏคู่กับหนังสือและปากกา เครื่องหมายหนังสือและปากกานี้บางครั้งใช้กับผู้นิพนธ์พระวรสารด้วย สำหรับนักบุญแอนโธนีแห่งเมืองปาดัวมักมีหนังสือที่มีดาบเสียบเป็นเครื่องหมาย
กล่องน้ำมันหอม (Box of Olintment) ศิลปะยุคเรอเนสซองส์ มักใช้กล่องน้ำมันหอมเป็นเครื่องหมายของนักบุญมารีย์ มักดาเลนา โดยส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่บ้านของลาซารัส ดังที่ ยอห์น 12:3 บันทึกไว้ว่า “และแล้ว มารีย์ก็ได้เอาน้ำมันหอมนาระดาบริสุทธิ์ ซึ่งมีราคาสูงมาก มาชโลมพระบาทพระเยซู แล้วเช็ดพระบาทของพระองค์ด้วยเส้นผมของนาง” นอกจากนี้ยังมีที่มาจากเหตุการณ์ที่สุสานฝังพระศพ หลังจากที่พระคริสต์ทรงถูกตรึงกางเขนแล้ว ดังที่ปรากฏใน มาระโก 16:1 “ครั้นวันสับบาโตล่วงไปแล้ว มารีย์ มักดาเลนา มารีย์ผู้เป็นมารดาของยอห์น และนางซาโลเม นำเครื่องหอมมาเพื่อไปชโลมพระศพของพระองค์”
กล่องน้ำมันหอมใช้กับนักบุญสองพี่น้อง คือนักบุญคอสมา (St. Cosmas) และนักบุญดาเมียน (St.Damian) ผู้เป็นแพทย์ทั้งคู่ ในงานศิลปะ ท่านทั้งสองมักถือกล่องน้ำมันหอมในมือหนึ่ง และเครื่องมือผ่าตัดในอีกมือหนึ่ง
ขนมปัง (Bread) เป็นสัญลักษณ์ของการยังชีพ ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ขนมปังเป็นสัญลักษณ์การเตรียมการของพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนความเอาใจใส่และการเลี้ยงดูประชากรของพระองค์ ทรงส่งอาหารชนิดหนึ่งเรียกว่า มานนา (Manna) มาให้ชนชาติอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร “เมื่อชนชาติอิสราเอลเห็นเข้า ก็บอกกันต่อๆไปว่า นี่คือ “มานนา” เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคือ อะไร โมเสสบอกพวกเขาว่า นี่คืออาหารที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้พวกท่านบริโภค” (อพยพ 16:15) พระคริสต์ทรงให้ความหมายในแง่ของสัญลักษณ์อีกอันหนึ่งแก่ขนมปังเมื่อตรัสว่า “เราคือปังแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิวโหย และผู้ที่วางใจในเราจะไม่กระหายอีกต่อไป (ยอห์น 6:35) ตอนที่ทรงเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายร่วมกับบรรดาสาวก ทรงใช้ขนมปังเป็นสัญลักษณ์ของการถวายบูชาพระองค์บนไม้กางเขน “พระองค์ทรงหยิบขนมปังโมทนาพระคุณ แล้วบิส่งให้แก่พวกเขาพร้อมกับตรัสว่า นี่คือกายของเราซึ่งมอบให้ท่านทั้งหลาย จงกระทำเช่นนี้เพื่อรำลึกถึงเราเถิด” (ลูกา 22:19) บางครั้งขนมปังใช้เป็นเครื่องหมายของนักบุญโดมินิก โดยมีที่มาจากตำนานว่า ท่านได้ขนมปังมาเลี้ยงดูผู้อยู่ในปกครองด้วยความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้า
เสื้อคลุม (Cloak หรือ Coat) เสื้อคลุมที่ถูกฟันขาดสองท่อนด้วยดาบ ใช้เป็นเครื่องหมายของนักบุญมาร์ติน เนื่องจากท่านแบ่งเสื้อคลุมของท่านให้ชายยากจนครึ่งหนึ่ง ท่ามกลางอากาศหนาวจัด
เหรียญ (Coins) เหรียญเงิน 30 เหรียญ ใช้เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความทรมานที่พระคริสต์ได้รับ โดยมีที่มาจากการที่สาวกคนหนึ่งของพระองค์ ยูดาส อิสคาริโอท (Judas Iscariot) ทรยศต่อพระองค์ ดังที่ มัทธิว 26:14 – 15 บันทึกไว้ว่า “ยูดาส อิสคาริโอท ไปหาบรรดามหาปุโรหิต แล้วถามว่า ถ้าข้าพเจ้าจะชี้พระองค์ให้พวกท่าน ท่านจะให้ข้าพเจ้าเท่าไร พวกเขาจึงตกลงให้แก่ยูดาส 30 เหรียญเงิน