Get Adobe Flash player

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานฯ

 imageedit 1 6373507384

บาทหลวงปิยะชาติ   มะกรครรภ์

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูต

อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

Facebook


banner face holych Custombanner_face_pmg_Custom.pngPresentation2 Custom

งานอื่นๆของฝ่าย

Slide6 CustomSlide5 Custom

เวลา

jesus

พระเยซูเจ้าและศักเคียส    “เขาไปพักที่บ้านของคนบาป”  พระเยซูเจ้าและคนบาป

      เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ พระองค์ทรงกลายเป็น “พระพักตร์ที่มองเห็นได้ของพระเจ้าผู้ที่เรามองไม่เห็น” พระองค์ทรงบอกอัครสาวกของพระองค์ว่า “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14:9) บัดนี้ เราสามารถเพ่งพินิจพระเจ้าผู้ “เมตตากรุณา ไม่โกรธง่าย เปี่ยมด้วยความรักมั่นคง และความซื่อสัตย์” (อพย 34:6) ได้ในพระพักตร์ของพระบุตรของพระองค์ผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงพบปะคนจำนวนมากในพื้นที่ต่างๆของปาเลสไตน์ พระวรสารได้บันทึกชื่อของคนเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ รายละเอียดบางอย่างสะดุดสายตาของเรา เช่น หญิงและชายที่พระองค์ได้พบนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเสมอ หรือกำลังป่วย กำลังโศกเศร้า หรือกำลังตกอยู่ใต้สถานการณ์ที่คับขัน ยิ่งกว่านั้น พวกเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ผิดศีลธรรม ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของโมเสส ดังนั้น เขาจึงไม่ได้เจริญชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า

     ประชาชนมีภาพของพระเมสสิยาห์ฝังอยู่ในใจมาก่อน พวกเขา (รวมทั้งอัครสาวก) จึงเชื่อว่า พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นผู้เรียกสายฟ้าแห่งพระพิโรธของพระเจ้าลงมาทำลายคนชั่ว แต่พระองค์กลับแสดงความรักของพระบิดาต่อประชากรของพระองค์ ความรักที่ชาวอิสราเอลไม่สมควรได้รับเลย หลังจากประกาศกทั้งหลายขู่ประชาชนเพราะพวกเขาหัวใจแข็งกระด้างแล้ว ประกาศกเหล่านั้นมักแสดงตัวว่าเป็นผู้นำความรักของพระเจ้า และพระเจ้าก็ไม่เคยปฏิเสธคำอ้างเหล่านี้เลย พระเจ้าทรงประกาศผ่านประกาศกและเพลงสดุดีว่าความรักของพระองค์เป็นความรักแบบให้เปล่า ไม่สามารถซื้อขายได้เหมือนสินค้า แม้พระองค์ยืนกรานเช่นนี้ แต่ประชาชนก็ยังถือศาสนาอย่างเข้มงวด จนไม่เหลือที่สำหรับความเมตตา
     ความเมตตาคือลักษณะพิเศษของพระเยซูเจ้าที่ดึงดูดใจคนยากจน คนบาปทุกประเภท และบุคคลที่ถูกกีดกันทางสังคมและวงการศาสนา พระเยซูเจ้าทรงรื้อขนบธรรมเนียมทั้งหลาย คนบาปเป็นบุคคลที่สังคมถือว่ามีมลทิน เพราะพฤติกรรมส่วนตัวหรืออาชีพของเขาน่ารังเกียจ แต่พระองค์ทรงใช้เวลาอยู่กับคนเหล่านี้ เสียงบ่นจากธรรมาจารย์และฟาริสีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเสียงประท้วงอย่างชิงชัง และพวกเขาคิดว่าเขามีเหตุผลที่ดีที่คิดเช่นนั้น
สถานการณ์นี้ดูเหมือนว่าเข้าใจยาก จนกระทั่ง ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งเป็นผู้เตรียมทางให้พระองค์ต้องส่งศิษย์ของเขามาถามพระเยซูเจ้าอย่างตรงไปตรงมาว่า “ท่านคือผู้ที่จะมา หรือเราจะต้องรอคอยใครอีก?” (มธ.11:3) ยอห์นประกาศการมาถึงบุคคลที่จะนำดาบและไฟมาสู่โลก แต่เขากลับต้องยอมรับบุคคลที่ “จะไม่หักไม้อ้อที่ช้ำแล้ว หรือดับไส้ตะเกียงที่ยังริบหรี่อยู่” (12:20) ความสับสนของยอห์นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และอันที่จริง พระเยซูเจ้าก็ไม่ทรงประหลาดใจ ด้วยทรงทราบว่ายอห์นถามอย่างสุจริตใจ พระเยซูเจ้าจึงทรงชี้ให้เห็นเครื่องหมายต่างๆที่จะระบุตัวพระองค์ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่ประกาศกทั้งหลายเคยประกาศไว้
     แต่ใครคือคนบาป? คำนี้หมายถึงคนประเภทใด? คนยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะอ้างเหตุผลมาอธิบายทัศนคติในพระวรสาร และอ้างว่าภาพด้านลบของฟาริสีเกิดจากการบิดเบือนของผู้เขียนพระวรสารในยุคหลัง บางคนยืนยันว่าคำว่า “คนบาป” หมายถึง “ผู้ที่ละเมิดบทบัญญัติอย่างจงใจและไม่สำนึกผิด” หรืออาจพูดได้ว่าคนเหล่านี้เป็นเพียงอาชญากรและบุคคลที่ละเมิดกฎหมายทั่วไปในยุคนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ศัตรูของพระเยซูเจ้าก็ทำถูกแล้วที่เขาสะดุดใจ และถือว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ไม่รับผิดชอบและเป็นบุคคลอันตรายในสังคม ซึ่งถ้าเป็นโลกปัจจุบัน ก็อาจเปรียบเทียบได้กับพระสงฆ์คนหนึ่งที่ไปเยี่ยมมาเฟีย ครอบครัวของมาเฟีย และอาชญากรทั่วไป และยอมรับคำเชิญไปรับประทานอาหารค่ำ โดยอ้างว่าเพราะเขาต้องการพูดเรื่องพระเจ้ากับคนเหล่านี้
     แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เช่นนั้น พระเยซูเจ้าไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านของคนเก็บภาษีและคนบาปบ่อยๆ พระองค์เสด็จไปยังบ้านของคนเก็บภาษีและคนบาปเพียงคนละหนึ่งครั้ง และในแต่ละโอกาส พระองค์ทรงทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนชีวิตของเขาได้ ในความเป็นจริงชาวฟาริสีมีมุมมองของตนเองเกี่ยวกับธรรมบัญญัติ เขาตัดสินเองว่าพฤติกรรมใดสอดคล้องหรือขัดต่อบทบัญญัติ และเขาถือว่าคนที่ไม่ปฏิบัติตนเหมือนพวกเขาต้องเป็นคนเลว พระเยซูเจ้าไม่ทรงปฏิเสธว่ามีบาปและคนบาปอยู่ในโลกนี้ เราจะเห็นว่าพระองค์ไม่ทรงแก้ตัวให้พฤติกรรมฉ้อฉลของศักเคียส พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์คิดเช่นนี้เมื่อพระองค์ทรงเรียกคนเหล่านี้ว่า “คนเจ็บไข้” สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงประณามคือข้ออ้างของชาวฟาริสีซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันเหมือนกับในอดีต ว่าเขาสามารถตัดสินด้วยตนเองว่าอะไรคือความชอบธรรม และเขาใช้เกณฑ์นั้นตัดสินว่าผู้อื่นเป็น “ขโมย อยุติธรรม ล่วงประเวณี” (ลก 18:11) และไม่คิดด้วยว่าคนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ วิธีที่ลูกาเกริ่นไว้ก่อนเล่าอุปมาเรื่องชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้น “พระเยซูเจ้าตรัสเล่าเรื่องอุปมานี้ให้บางคนที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบุคคลที่ประณามคนบาปอย่างเหยียดหยาม มากกว่าทรงตำหนิคนบาป

“ศักเคียส รีบลงมาเถิด”
     พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองเยรีโค และไม่ใช่ครั้งแรกที่พระองค์เสด็จมาเยือนเมืองนี้ ครั้งนี้ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าใกล้เมือง พระองค์ทรงรักษาชายตาบอดคนหนึ่ง (ดู ลก 18:35) ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมจึงมีประชาชนจำนวนมากมารอคอยพระองค์ที่นั่น ศักเคียสเป็น หัวหน้าคนเก็บภาษี เป็นคนมั่งมี (19:2) เนื่องจากเขาเป็นคนร่างเตี้ย เขาจึงปีนขึ้นต้นมะเดื่อเทศที่ขึ้นอยู่ตามทางที่พระเยซูเจ้าจะเสด็จผ่าน เพื่อให้มองเห็นพระองค์ได้ถนัดขึ้น (ที่ประตูเมืองเยรีโค ประชาชนในวันนี้ยังชี้ต้นมะเดื่อเทศที่เก่าแก่ และบอกว่าอาจเป็นต้นมะเดื่อเทศของศักเคียสก็ได้) และนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงที่นั่น ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตรตรัสกับเขาว่า ‘ศักเคียส รีบลงมาเถิด เพราะเราจะไปพักที่บ้านท่านวันนี้’ เขารีบลงมาต้อนรับพระองค์ด้วยความยินดี ทุกคนที่เห็นต่างบ่นว่า ‘เขาไปพักที่บ้านคนบาป’” (19:5-7)
ประชาชนเหยียดหยามศักเคียสเพราะเขาทุจริตเรื่องเงินทองและอำนาจ และบางทีอาจดูถูกเขา เพราะเขาเป็นคนร่างเตี้ยด้วย ศักเคียสเป็นเพียง “คนบาป” คนหนึ่งในสายตาประชาชน ในขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จไปที่บ้านของเขา พระองค์ทรงละทิ้งฝูงชนที่นิยมชมชอบและต้อนรับพระองค์เข้าสู่เมืองเยรีโค และเสด็จไปเยี่ยมบ้านของศักเคียสทรงปฏิบัติเหมือนกับชุมพาบาลที่ดี ผู้ทิ้งแกะ 99 ตัว เพื่อไปตามหาแกะตัวที่ 100 ที่หลงทาง สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับพระเยซูเจ้าคือ ศักเคียสเป็น “บุตรคนหนึ่งของอับราฮัม” (ลก 19:9)
     ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงกำลังทำอย่างที่พระเจ้าทรงกระทำ พระองค์ทรงต้อนรับบุคคลที่ถูกกีดกันจากระบบทางการเมือง (คนยากจนและคนที่ถูกกดขี่) หรือคนที่ผลักไสจากระบบศาสนา (คนนอกศาสนา คนเก็บภาษี และโสเภณี) บุคคลที่ยอมรับไม่ได้เมื่อเห็นพระเจ้าทรงกระทำเช่นนี้ ย่อมตัดขาดตนเองจากความรอดพ้น เมื่อเขาต้องการเลือกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงสิ่งใด เขาจึงกลายเป็นฝ่ายที่ถูกเลือกปฏิบัติเสียเอง เมื่อมองในแง่นี้ ดูเหมือนว่าอุปมาเรื่องคนเก็บภาษีและชาวฟาริสีเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิตของศักเคียส ในเรื่องอุปมานั้น พระเจ้าทรงทำให้คนเก็บภาษีที่สำนึกผิด กลับกลายเป็นคนชอบธรรม และทรงส่งชาวฟาริสีกลับไปบ้านแบบมือเปล่า ในกรณีนี้ พระเยซูเจ้าทรงนำความรอดพ้นมาสู่บ้านศักเคียส และทรงละทิ้งประชาชนผู้ทะนงตนและมือถือสากปากถือศีล ให้ยืนบ่นอยู่ข้างนอก
     เราะเข้าไปภายในบ้านกับพระเยซูเจ้าและศักเคียส และได้ยินเรื่องส่วนที่เหลือ “ศักเคียสยืนขึ้นทูลพระเยซูเจ้าว่า ‘พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะยกทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งให้แก่คนยากจน และถ้าข้าพเจ้าโกงสิ่งใดของใครมา ข้าพเจ้าจะคืนให้เขาสี่เท่า’ พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘วันนี้ ความรอดพ้นมาสู่บ้านนี้แล้ว เพราะคนนี้เป็นบุตรของอับราฮัมด้วย บุตรแห่งมนุษย์มาเพื่อแสวงหาและเพื่อช่วยผู้ที่เสียไปให้รอดพ้น’” (ลก 19:8-10)
ความเมตตา (มิใช่คำตำหนิ) นำมาซึ่งอัศจรรย์
     ประชาชนเหยียดหยามคนเก็บภาษีเพราะหลายเหตุผล คนเหล่านี้ฐานะดีและไม่ซื่อสัตย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนเกลียดและอิจฉาบุคคลที่เป็นต้นเหตุให้พวกเขาต้องจ่ายภาษีอย่างไม่เป็นธรรม
      ศักเคียสเป็นหัวหน้าคนเก็บภาษี เขาได้ยินเสียงเล่าลือเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ว่าทรงเป็นประกาศกที่แตกต่างจากประกาศกอื่นๆ เขาจึงต้องการเห็นพระองค์ และคงไม่ใช่เพราะความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น เขาสนใจพระองค์จริงๆ แม้ว่าอาจเร็วเกินไปที่จะคิดว่าเขามีความปรารถนาจะกลับใจ เนื่องจากศักเคียสเป็นคนร่างเตี้ย เขามองเห็นอะไรไม่มากนักเขาจึงปีนขึ้นต้นไม้ พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงและทรงมองขึ้นไป พระวรสารแย้มไว้หลายครั้งว่าสายพระเนตรของพระเยซูเจ้าดูเหมือนมีพลังอัศจรรย์ และสื่อสารได้มากกว่าคำพูด และพระองค์ทรงเรียกศักเคียสด้วยชื่อของเขา
     เราอาจคิดว่าก่อนที่พระเยซูเจ้าจะทรงประกาศว่าศักเคียสได้รับการอภัย เขาควรปฏิบัติตามเงื่อนไขห้าข้อที่ต้องปฏิบัติก่อนจะได้รับการอภัยบาป คือ สำรวจมโนธรรม สำนึกผิด ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทำบาปอีกต่อไป สารภาพบาป และทำกิจใช้โทษบาป แต่ในกรณีนี้ ศักเคียสไม่ได้ทำอะไรเช่นนี้เลย พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ศักเคียส รีบลงมาเถิด เพราะเราจะไปพักที่บ้านท่านในวันนี้” (ลก 19:5) ประเด็นสำคัญในที่นี้คือความเร่งด่วน เขาต้องต้อนรับพระองค์ในเวลานี้ พระองค์ทรงต้องการใช้เวลาอยู่กับศักเคียส และไม่เพียงทรงเดินผ่านบ้านของเขาเพื่อให้เห็นว่าเขาอาศัยอยู่ที่ไหน พระองค์ทรงต้องการเข้าไปในบ้านของศักเคียส พักอยู่ในบ้านนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง เสวยอาหารที่นั่น และบางทีอาจทรงพักแรมที่นั่นด้วย
     พระเยซูเจ้าทรงเปิดโอกาสให้พระองค์ถูกตำหนิและอาจทรงได้รับอันตรายได้ เพราะพระองค์ทรงยอมเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้มีมลทิน เราได้เห็นว่า เปโตรลังเลใจที่จะเข้าไปในบ้านของโครเนลีอัส นายร้อยในกองทหารโรมัน เพราะไม่ต้องการให้ตนเองมีมลทิน (ดู กจ.10) นี่เป็นปฏิกิริยาปกติ เพราะการทำเช่นนั้นอาจเป็นที่สะดุดได้ พระเยซูเจ้าทรงพบกับคนบาปในบ้านของเขา และไม่ทรงตั้งเงื่อนไขใดๆให้เขาปฏิบัติก่อน พระองค์ไม่ทรงขอให้เขาชำระตนเองให้สะอาดตามธรรมบัญญัติของโมเสส พระองค์ไม่ทรงขอให้เขาละทิ้งอาชีพที่ไม่น่านับถือของเขา หรือให้เขาทำกิจใช้โทษบาป
     แต่ศักเคียสสามารถมองเห็นความรักในสายพระเนตรของพระเยซูเจ้าได้ พระเยซูเจ้าทรงเคยมองเศรษฐีหนุ่มเช่นนี้เหมือนกัน (ดู มก. 10:21) และสายพระเนตรนั้นกระทบจิตใจของศักเคียส ทำให้เขาเปี่ยมล้นด้วยความยินดี เขายินดีต้อนรับบุคคลที่มอบความรักอย่างปราศจากเงื่อนไขแก่เขา เขายอมให้ความรักนี้ไหลท่วมตัวเขา ความรักนี้ทำให้เขารู้สึกว่าเขากลับมีชีวิตและกลายเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง เขาไม่รู้สึกอีกต่อไปว่าตนเองอยู่ในหมอกแห่งความรังเกียจ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจแม้แต่ในเวลาที่เขาอยู่กับเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา
     ศักเคียสเข้าใจทันทีว่า ถ้าเขาต้องการให้ความรักนี้มีชีวิตและให้ชีวิตแก่เขา เขาต้องยอมให้ความรักนี้ไหลเข้าท่วมทั้งชีวิตของเขา เขาจำเป็นต้องยอมให้ความรักนี้มีอิทธิพลเหนือทุกความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเพื่อนมนุษย์ ดังนั้น แม้ว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงเรียกร้องสิ่งใดจากเขา ศักเคียสก็เต็มใจประกาศว่าเขาจะยกทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งให้แก่คนจน และถ้าเขาเคยเก็บภาษีจากผู้ใดอย่างไม่เป็นธรรม เขาจะคืนให้เป็นสี่เท่า
     นี่คือการชดเชยความผิดอย่างแท้จริง แต่เป็นการชดเชยในระดับความสัมพันธ์กับมนุษย์ในแง่ของความยุติธรรมระหว่างมนุษย์ และนี่คือสิ่งที่ทำให้การชดเชยของเขาสมควรได้รับความเคารพ แต่ศักเคียสไม่ได้ทำเช่นนี้เพราะเป็นเงื่อนไขที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อให้เขาได้รับความรักจากพระองค์ แต่เป็นผลที่เกิดจากความรักนั้น ศักเคียสได้รับความรักก่อน และเป็นความรักที่พระองค์ทรงมอบให้เขาอย่างเต็มพระทัย เขาจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องหันไปหาผู้อื่น ผู้ที่เขาเคยฉ้อโกงมาจนถึงเวลานั้น และเขาเรียนรู้ที่จะเคารพและรักคนเหล่านั้น ความเมตตาของพระเจ้าทำงานเช่นนี้ และขอให้เราอย่าได้ลืม
(ที่มา : นิตยสารแม่พระยุคใหม่, ปีที่ 38, ฉบับที่ 228, เดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม 2019/2562 หน้า 6-10)