Get Adobe Flash player

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานฯ

Sahafr

บาทหลวงอนุรัตน์ ณ สงขลา

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

Facebook


banner face holych Custombanner_face_pmg_Custom.pngPresentation2 Custom

งานอื่นๆของฝ่าย

Slide6 CustomSlide5 Custom

เวลา

สิ่งที่ควรทำ...ในทุกๆเทศกาล

     เทศกาลมหาพรตไม่ใช่เป็นเพียงเทศกาลที่เราต้องภาวนา ทำพลีกรรม จำศีลอดอาหาร และให้ทานเท่านั้น แต่มันยังเป็นการเดินมุ่งหน้าด้วยความยินดีไปฉลองปัสกา ซึ่งเป็นยอดแห่งวันฉลองในรอบปีของเราคริสตชน
     ในช่วงเวลาแห่งการเดินทางนี้ เราต้องขจัดนิสัยไม่ดีต่างๆและละทิ้งกิจการชั่วร้าย ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพระเจ้าในชีวิตของเราต้องจางลง
     ในโอกาสนี้ CTimes จึงขอนำเสนอสิ่งที่เราควรทำ ไม่เพียงแต่ในเทศกาลมหาพรต แต่ในทุกๆเทศกาล นั่นคือ การเป็นคนอ่อนโยนมากขึ้น และการบ่นให้น้อยลง

1.อ่อนโยนมากขึ้น
การเป็นคนอ่อนโยนนั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายและธรรมดา แต่ก็เป็นเรื่องยากไม่น้อย ซึ่งเราแต่ละคนควรฝึกฝนทุกวัน
ลักษณะ 3 ประการที่ใช้ เพื่อฝึกฝนความอ่อนโยนในชีวิตทุกวัน คือ
- อย่าโวยวาย : เมื่อเรารู้สึกเหนื่อย โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ เราไม่จำเป็นต้องส่งผ่านความรู้สึกเหล่านี้ไปยังบุคคลอื่น ด้วยกิริยาที่ไม่เหมาะสม จงเลือกที่จะไม่โวยวาย และควบคุมความรู้สึก
- อย่านินทา : หยุดพูดถึงคนอื่นลับหลังและให้เกียรติกับบุคคลที่ไม่อยู่ด้วยกับเราในวงสนทนา การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายสังคม และทำให้คนๆนั้นรู้สึกไม่ดี เมื่อรับรู้ในภายหลัง
- ใช้ประโยชน์จากความสงสัย : เมื่อเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจในความหมายของสิ่งที่บางคนพูด “จงถาม” การถามเป็นวิธีการที่ดีที่สุด อาจดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ แต่เป็นการแสดงออกถึงจิตใจที่สุภาพ และเป็นหัวใจแบบคริสตชน
ความอ่อนโยนเกิดขึ้นกับเราได้ง่าย เมื่อเราฝึกฝนชีวิตจิต และฝึกฝนอย่างต่อเนื่องตลอดไปในทุกๆเทศกาล
2. บ่นให้น้อยลง
“หยุดจากการเป็นคนขี้บ่น” เพราะการบ่นจนติดเป็นนิสัยจะนำไปสู่ความสิ้นหวัง ใครที่อยู่ใกล้คนที่ขี้บ่น แม้แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็จะรู้สึกมืดมนตามไปด้วย แน่นอนวา เราสามารถแบ่งปันความผิดหวังและความลำบากของเรากับคนในครอบครัว กับเพื่อนและกับพระเจ้าในการภาวนา แต่เราไม่จำเป็นต้องแสดงออกตลอดเวลาโดยการบ่น ซึ่งเป็นลักษณะในทางลบให้กับทุกคนที่อยู่รอบข้างเรา
การหยุดบ่นและบ่นให้น้อยลงนี้ จะทำให้เรารู้สึกมีความสุขและสงบ ตัวเราจะไม่ใช่แหล่งที่มาของการบ่น และจะไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกหม่นหมอง เราจะไม่เสียใจในสิ่งที่เราพูด และทำให้สุขภาพตัวเองดีด้วย
แน่นอนว่า ชีวิตของเราจะเผชิญกับปัญหา และพบกับอุปสรรคที่ไม่คาดคิดเสมอ เช่น สุขภาพที่ไม่ดี ปัญหากับคนรอบข้าง ปัญหาทางการเงิน ปัญหาในครอบครัว หรือในที่ทำงาน มันง่ายที่จะบ่น และปล่อยความรู้สึกให้แสดงตัวออกมา แต่เราสามารถเลือกที่จะบังคับตัวเองได้เมื่อรู้ตัวว่าจะบ่น
ในมุมมองแห่งแสงสว่างของการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ทำให้เราเข้าใจว่า เมื่อเราพบคริสตชนที่ขี้บ่น เราอาจจะสงสัยได้ว่า พวกเขามีความเชื่อจริงหรือไม่ว่า พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ เพราะไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า และพระจิตเจ้าทรงทำงานอยู่ในตัวของเราแต่ละคน
การเป็นคนขี้บ่นเป็นพิษร้ายที่นำเรากลับไปยังหลุมฝังศพ เหมือนว่าชีวิตไม่มีความหวังอีกต่อไป แต่การกลับคืนชีพคือ บทสรุปของเทศกาลมหาพรต และเป็นข่าวดีของทุกเทศกาล! ให้เรามีชีวิตอยู่บนข่าวดีแห่งการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า โดยปราศจากการบ่น (มากเกินไป) เราจะมีความสุข และทำให้คนรอบข้างมีความสุขมากขึ้น
คำสอนเตือนใจ
1. คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกพระบัญญัติประการที่ 8 คือ “อย่าใส่ความนินทา” (อ้าง CCC 2464 – 2513)
พระบัญญัติประการนี้เตือนเราเรื่องของการผิดความยุติธรรมหรือการละเมิดสิทธิต่อชื่อเสียงของผู้อื่น ซึ่งเราสามารถแยกประเด็นเป็น 2 ประเด็น คือ “การนินทา” และ “การใส่ความ”
นินทา หมายถึง การเอาเรื่องของผู้อื่นไปพูดและเรื่องที่พูดนั้นทำให้ผู้ที่ถูกพูดถึงเสียหาย ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม สาเหตุก็เพราะเราไม่มีสิทธิ์ที่จนำเรื่องผู้อื่นไปพูด โดยที่เจ้าตัวเขาไม่อนุญาต ถือเป็นเรื่องสิทธิส่วนตัวของเขา
ส่วนการนำเรื่องที่ดีของผู้อื่นไปพูด และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆไม่ถือว่าเป็นการนินทา แต่ก็ควรระวังว่าเจ้าตัวเขาจะยินดีหรือไม่ด้วยเหมือนกัน
ใส่ความ หมายถึง การนำเอาเรื่องของผู้อื่นไปพูด เช่นเดียวกับการนินทา แต่ทว่าเรื่องที่นำไปพูดนั้นเป็นเรื่องไม่จริง ดังนั้น ความผิดเรื่องการใส่ความนี้จึงหนักกว่านินทามาก
เมื่อเกิดความผิดในข้อนี้ขึ้น การแก้ไขจะลำบากมาก เพราะต้องมีการชดใช้หรือชดเชยความผิดให้ครบสมบูรณ์ บาปจึงจะได้รับการยก เช่น มีการใส่ความหรือนินทากันเกิดขึ้น ผู้ที่กระทำผิดต้องแก้ข่าว คืนชื่อเสียงให้แก่ผู้ถูกละเมิดจนครบถ้วน... ที่บอกว่าแก้ไขลำบาก เพราะมีการขยายความข้อผิดพลาดนี้ไปแบบปากต่อปาก ดังนั้น เมื่อจะแก้ไขจึงต้องตามแก้ให้หมดด้วย
การป้องกันการนินทาหรือใส่ความ จึงต้องพยายามระมัดระวังปากของตัวเอง ควรพูดในสิ่งที่ควรพูด มิใช่พูดพล่อยๆ ดังนั้น การคิดก่อนพูด จึงเป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดการนินทาใส่ความกันน้อยลง
นอกจากนั้น พึงระวังในการใช้เครื่องมือสื่อสารมวลชน เช่น อินเตอร์เน็ท โทรศัพท์ ฯลฯ ที่จะนำไปสู่การผิดต่อความรัก และความเคารพผู้อื่น ควรหลีกเลี่ยงในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพื่อทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง... หลายคนมาเสียใจเอาภายหลังเมื่อพูด หรือเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นในสื่อต่างๆ โดยมิได้คิด จงจำไว้ว่า เราไม่มีสิทธิ์ไปละเมิดชื่อเสียงของผู้อื่น...(อ้างหลักธรรม คำสอนคาทอลิก เรื่องพระบัญญัติประการที่ 8)
2. นักบุญยอห์น บอสโก
ลักษณะที่คุณพ่อบอสโกไม่ชอบอย่างยิ่ง คือ การบ่น การวิพากษ์วิจารณ์ และการนินทาโดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ ลักษณะข้างต้นนี้เป็นหนึ่งในลักษณะ 5 ประการที่คุณพ่อบอสโกได้เขียนเตือนสมาชิกซาเลเซียนให้หลีกเลี่ยง
คุณพ่อบอสโกเน้นย้ำเสมอว่า การบ่นและการนินทาไม่ใช่จิตตารมณ์ซาเลเซียน มันเป็นเหมือนโรคระบาดร้ายแรง ที่เราต้องหนีให้ห่าง เพราะมันจะทำลายสังคม และหมู่คณะของเรา
สำหรับคุณพ่อแล้วไม่มีกรณีใดหรือการบ่นของใคร ไม่ว่าจะเป็นของสมาชิกซาเลเซียนหรือของเด็กที่จะเป็นการบ่นที่ถูกต้อง (อ้าง SDB – Constitutions and Regulations 2015 edition, TO THE SALESIAN CONFRERES: five faults to be avoided, p.248 – 249)
คุณพ่อบอสโกเคยกล่าวว่า “ซาเลเซียนจะไม่ปล่อยตนให้อยู่ในความท้อแท้ เขาจะวางใจในพระเจ้าเสมอ” (อ้าง MB VII, 524)
ในเวลาเดียวกันในชีวิตของซาเลเซียน ไม่จำเป็นต้องแสวงหาการพลีกรรมพิเศษ แต่ให้เราน้อมรับสิ่งที่เกิดขึ้นประจำวัน โดยพร้อมที่จะอดทนกับความร้อนและความหนาว ความหิวและความกระหาย รวมทั้งความยากลำบากต่างๆในชีวิต ทั้งนี้ เพื่อพระสิริมงคลของพระเจ้า และเพื่อความรอดของวิญญาณ (อ้างพระวินัยซาเลเซียน ข้อ 18)
3. พระสันตะปาปาฟรังซิส
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเตือนใจคริสตชนว่า โลกนี้ไม่มีคำว่านินทาโดยถูกต้อง เพราะการนินทาคืออาชญากรรมการฆ่าคน ใครที่ตัดสินและพูดไม่ดีถึงผู้อื่น เขาก็เป็นคนหน้าซื่อใจคด เพราะเขาไม่กล้าพอที่จะมองความผิดพลาดของตนเอง
นักบุญยอห์นได้เขียนไว้ในจดหมายของท่านอย่างชัดเจนว่า คนที่เกลียดชังพี่น้อง ก็เดินอยู่ในความมืด ผู้ใดตัดสินพี่น้อง ก็เป็นฆาตกร ยิ่งถ้าเราตัดสินผู้อื่นในใจ ก็เลวร้ายยิ่งกว่าการพูดออกมา
จงเปลี่ยนการนินทาให้เป็นการสวดภาวนาและการพลีกรรมให้ศัตรู ทุกครั้งที่เรานินทาผู้อื่น เราก็เลียนแบบกาอิน ซึ่งเป็นฆาตกรคนแรกในประวัติศาสตร์โลก (อ้างบทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรังซิสที่หอพักซานตามาร์ธา เมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.2013)
นอกจากนั้น พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้โอวาทเตือนใจบรรดาพระสงฆ์ นักบวช และสามเณร ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศอียิปต์ ที่บ้านเณรนักบุญเลโอ กรุงไคโร เมื่อวันเสาร์ที่ 29 เมษายน ค.ศ.2017 ว่า
“การประจญที่เราต้องพึงระวังมีหลายประการ... หนึ่งในนั้นก็คือ การประจญที่จะบ่นตลอดเวลา มันง่ายที่จะกล่าวโทษคนอื่น บ่นข้อเสียของผู้ใหญ่ บ่นเกี่ยวกับพระศาสนจักรและสังคม นักบวชซึ่งได้รับการเจิมจากพระจิตเจ้าคือ ผู้ที่เปลี่ยนอุปสรรคทุกชนิดให้เป็นโอกาส ไม่ใช่เปลี่ยนความยากลำบากให้เป็นข้อแก้ตัว คนที่บ่นเสมอคือ คนที่ไม่อยากทำงาน”...
นอกจากนั้นยังมีการประจญที่เราต้องระวังอีกประการหนึ่งนั่นคือ การนินทาและการอิจฉา เพราะแทนที่เราจะช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า และชื่นชมยินดีในความสำเร็จของเพื่อนพี่น้อง เรากลับยอมให้ตนเองถูกครอบงำด้วยความอิจฉาและพร้อมจะทำร้ายคนอื่นด้วยการนินทา
เมื่อความอิจฉาได้พุ่งสูงขึ้น พวกเขาเหล่านั้นจะเริ่มทำลายคนอื่น พวกเขาจะตัดสินและดูถูกเหยียดหยามคุณค่าของคนอื่น
ความอิจฉาคือ มะเร็งร้ายที่ทำลายร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าอาณาจักรหนึ่งแตกแยก อาณาจักรนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่งแตกแยก ครอบครัวนั้นก็ตั้งมั่นอยู่ต่อไปไม่ได้ (มก. 3: 24 – 25)
อย่าลืมว่าเพราะความอิจฉาของปีศาจ ความตายจึงเข้ามาในโลก (ปชญ 2:24) การนินทาคือ วิธีการแสดงออกของความอิจฉา และเป็นอาวุธของความอิจฉาด้วย...
(ที่มา . บทความเรื่อง “สิ่งที่ควรทำ ในทุกๆเทศกาล, นิตยสาร Thai Salesian Bullentin ดอนบอสโก, ปีที่ 61 เดือน มีนาคม – เมษายน 2561, หน้า 32 -35)

ศึกษาพระคัมภีร์

Catholic bible

ค้นหา

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

bkk2020

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

เรื่องมาตรการและแนวทางภาคปฏิบัติ

เพื่อการเข้าร่วมพิธีกรรมของคริสตศาสนิกชนคาทอลิก

แรงจูงใจในการประกาศพระวรสาร

 

บทความดีดี