/home/missionbkk/public_html/templates/30aug182/component.php on line 5
"> 9 พฤศจิกายน วันคล้ายวันอภิเษกพระวิหารนักบุญยอห์น แห่ง ลาเตรัน

9 พฤศจิกายน
วันคล้ายวันอภิเษกพระวิหารนักบุญยอห์น แห่ง ลาเตรัน

     ปราสาทลาเตรัน อันเป็นสมบัติของครอบครัวของจักรพรรดิ ได้กลายเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระสันตะปาปาในศตวรรษที่ 4 และวิหารซึ่งอยู่ถัดไปก็ได้ยกถวายให้แด่องค์พระผู้ไถ่ จึงได้กลายเป็นอาสนวิหารแห่งแรกของโลก ที่พระวิหารนี้ ส่วนใหญ่จะกระทำพิธีโปรดศีลล้างบาปในค่ำคืนวันปาสกา ต่อมาได้ถวายพระวิหารแห่งนี้แด่ท่านนักบุญยอห์น แบปติสต์และนักบุญยอห์น อัครธรรมทูต พระวิหารแห่งนี้ได้รับการือว่าเป็นพระวิหารแม่ของกรุงโรม ทั้งได้มีโอกาสต้อนรับการประชุมสังคายนาครั้งสำคัญๆ 5 ครั้งด้วยกัน

     โดยร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระศาสนจักรที่กรุงโรม ศาสนจักรทุกๆแห่งในโลกในทุกวันนี้น้อมรับว่าพระศาสนจักรที่กรุงโรม “ทรงเป็นประธานแห่งความรักเมตตา” ที่นักบุญอิกญาซิโอ แห่ง อันติโอค มรณสักขีได้พูดถึง เช่นเดียวกัน เวลาที่เราทำการฉลองอาสนวิหารของศาสนจักรท้องถิ่น วัดทุกๆวัดในศาสนจักรท้องถิ่นนั้นๆ หรือในสังฆมณฑลนั้นๆ ก็เชื่อมสัมพันธ์และขึ้นกับอาสนวิหาร วัดทุกวัดที่สร้างขึ้นมา ก็เพื่อถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า และมีความประสงค์ที่จะถวายพระเกียรติแด่พระองค์ใน “รหัสธรรมแห่งการช่วยให้รอด” หรือในสิ่งมหัศจรรย์ที่พระองค์ได้ทรงกระทำในบรรดาเทวดาของพระองค์ ในพระนางพรหมจารีมารีอาหรือในบรรดานักบุญของพระองค์
     บางทีเราอาจจะเคยเห็นอักษรย่อ D.O.M. จารึกอยู่ที่หน้าวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ “Deo Optimo Maximo” ซึ่งแปลว่า “แด่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสรรพคุณงามความดีพร้อมและผู้ยิ่งใหญ่สุด” แต่ว่าการฉลองในวันนี้ เป็นการฉลองพระสวามีเยซูคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ได้ทรงรับเอากายและได้มาประทับอยู่ท่ามกลางเรา (เทียบ ยน 1,14) พระคริสตเจ้าผู้ได้ทรงกลับคืนชีพได้สถิตอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นหัวหน้า (ศีรษะ) ของพระศาสนจักร วัดทุกๆแห่งก็เป็นสัญลักษณ์ของการสถิตอยู่วันนี้ของพระคริสตเจ้า เป็นพระองค์เองที่ทรงตรัส ทรงสั่งสอนในวัดนี้ เป็นพระองค์ที่ทรงมอบพระองค์เองเป็นอาหารสำหรับเรา เป็นพระองค์เองที่ทรงเป็นประธานในการประชุมสวด เป็นพระองค์เองที่ทรงอยู่กับพวกเราตลอดไป (SC 7)
     อย่าลืมว่า วัดของเราไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เก่าหรือใหม่ เรือนไม้หรือว่าตึก สวยหรือว่าพอดูได้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ตัวเราซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีชีวิตที่ประกอบกันขึ้นเป็นวัด เป็นที่ประทับของพระตรีเอกภาพ โดยมีพระเยซูคริสตเจ้าเป็นหินมุม (เทียบ 1 ปต. 2 , 4-9) และอย่าลืมว่าวัดเป็นสถานที่พิเศษสำหรับการประชุมสวดและสำหรับการประกอบศาสนบริการต่างๆ
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, นครปฐม, วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน, 1985 หน้า 460 -462)