สัมมนาศึกษาข้อเชื่อศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
และโปรเตสแตนท์ 2016
วันศุกร์ ที่ 15 – วันอาทิตย์ ที่ 17 มกราคม 2016 แผนกศาสนสัมพันธ์ ฝ่ายงานธรรมทูต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ส่งบุคลากรเข้าร่วมเรียนรู้ ในการสัมมนาศึกษาข้อเชื่อศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ รุ่นที่ 13 ประจำปี 2016 ณ ศูนย์อบรมงานอภิบาล บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการฝ่ายศึกษาข้อเชื่อ ในคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์และคริสตสัมพันธ์ร่วมกับคณะกรรมการเอกภาพคริสตสัมพันธ์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจากผู้บริหารสถาบันต่างๆ คือ วิทยาลัยแสงธรรม วิทยาลัยพระคริสตธรรมแมคกิลวารี มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันกรุงเทพ คริสตศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน พระคริสตธรรมลูเธอร์ และ โรงเรียนคริสตศาสนศาสตร์ แบ๊บติสต์ มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และฆราวาสผู้สนใจ รวม 121 คน
การจัดสัมมนานี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ ได้ทำความเข้าใจ และเรียนรู้ร่วมกันในหลักข้อความเชื่อให้กระจ่างชัดทั้งจากสิ่งที่เข้าใจตรงกันและมุมมองที่มีความเข้าใจแตกต่าง และร่วมกันเสนอแนวทางสำหรับการสร้างเอกภาพของคริสตชนให้เกิดขึ้นในอนาคต โดย มีคณาจารย์จากทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ ในเนื้อหาข้อความเชื่อในเรื่อง เช่น ข้อเชื่อฯ สัญลักษณ์ของอัครสาวก พิธีกรรมทางศาสนา เกี่ยวกับพระคัมภีร์ ฯลฯ และที่ประชุมร่วมแบ่งปันความรู้แก่กัน
เนื้อหาสำคัญเรื่องหนึ่งของการสัมมนาศึกษาข้อเชื่อศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ ซึ่งบรรยายโดย คุณพ่อ เกรียงยศ ปิยวัณโณ หัวข้อ “ข้อเชื่อฯ สัญลักษณ์ของอัครสาวก” ข้อความเชื่อ หรือ “สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ” เป็นบทที่ประมวลข้อความจริงที่สำคัญของความเชื่อ ใช้เป็นพื้นฐานในการสอนคำสอน และถือว่าผู้ที่ได้ประกาศยืนยันข้อความเชื่อเหล่านี้ นั้นเป็นคริสตชน การประกาศยืนยันความเชื่อในพิธีกรรม ปัจจุบัน ซึ่งใช้สัญลักษณ์แห่งความเชื่ออยู่ 2 สำนวน คือ
1. บทสัญลักษณ์ของอัครสาวก (The Apostles’ Creed) เป็นบทสรุปที่ซื่อตรง แห่งความเชื่อของบรรดาอัครสาวก และเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่
ตอนที่ 1 พูดถึงพระเจ้า พระบุคคลแรก และกิจการแห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์
ตอนที่ 2 พูดถึงพระบุคคลที่สองคือพระบุตร เยซูเจ้า การเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ทรงรับทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ
ตอนที่ 3 พูดถึงพระบุคคลที่ สาม คือ พระจิตเจ้าผู้เป็นบ่อเกิดแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ และข้อความเชื่อสำคัญอื่นๆ อีก คือ เรื่องพระศาสนจักร, สหพันธ์นักบุญ, การยกบาป, การคืนชีพ และชีวิตนิรันดร ซึ่งข้อความเชื่อทั้งหมดมี 12 เรื่องด้วยกัน
2. สัญลักษณ์แห่งไนเซีย–คอนสแตนติโนเปิล(The Nicene – Constantinople Creed) เกิดขึ้นจากผลประชุมของสภาสังคายนาสากลสองครั้งแรก (สภาสังคายนาไนเซีย ค.ศ.325 และ สภาสังคายนาคอนแตนติโนเปิล ปี ค.ศ.381) เพื่อต่อต้านคำสอนที่ผิดและข้อโต้แย้งต่างๆ เป็นต้นจากคำสอนของอารีอุส, อโปลินารีอุส เป็นต้น
หัวข้อเรื่องพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ ของคริสตชนคาทอลิก ซื่งมีความสำคัญในพระศาสนจักรคาทอลิก เพราะเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของคริสตชน ซึ่งเชื่อว่าพิธีกรรมนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่สงฆ์ของพระเยซูเจ้า เพื่อให้มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ โดยอาศัยหมายสำคัญที่เห็นได้ ซึ่งลักษณะที่สำคัญของพิธีกรรมสรุปได้ 4 ประการ คือ
1. พิธีกรรมเป็นการปฏิบัติหน้าที่สงฆ์ของพระเยซูคริสตเจ้า โดยอาศัยศาสนบริกรสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่ในนามของพระองค์
2. พิธีกรรมทำให้มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสื่อกลางทำให้มนุษย์สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าและรับพระหรรษทานศักดิ์สิทธิ์จากพระองค์
3. พิธีกรรมอาศัยหมายสำคัญที่เห็นได้ เพื่อการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ตามเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์นั้นๆ
4. พิธีกรรมเป็นประชาคารวกิจของพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า พิธีกรรมเป็นคารวกิจสาธารณะจึงเน้นการมีส่วนร่วมของทุกๆ คนในการประกอบพิธีกรรม
ศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacrament) คือ เครื่องหมายภายนอกของพระหรรษทานภายใน ซึ่งได้รับการสถาปนาโดยพระคริสต์เพื่อการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ของเรา ซึ่งสภาสังคายนาเมืองเตรนท์ ได้ประกาศข้อความเชื่อเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับคริสตชนคาทอลิกว่า มีด้วยกันทั้งสิ้น 7 ประการ โดย โดยศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการนั้น มีความเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนและทุกช่วงชีวิตของคริสตชน สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้เป็น 3 หมวด คือ
1.ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มชีวิตคริสตชน (Sacraments of Christian Initiation) ประกอบด้วย ศีลล้างบาป, ศีลมหาสนิท และศีลกำลัง
2. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเยียวยารักษา (Sacraments of Healing) ประกอบด้วย ศีลอภัยบาป และศีลเจิมคนไข้
3. ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Sacraments at the Service of Communion) ประกอบด้วย ศีลบวช และศีลสมรส
และหัวข้อสากลสัมพันธภาพ –คริสตศาสนจักรสัมพันธ์ ผู้บรรยายได้กล่าวถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของการแตกแยกและความพยายามที่จะแสวงหาความเป็นเอกภาพ พระศาสนจักรคาทอลิกได้มีส่วนร่วมในการแสวงหาเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันกับหมู่คริสตชน นับตั้งแต่หลังจากการประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ขณะที่ประเทศไทย ก็มีการดำเนินงานด้านคริสตศาสนจักรสัมพันธ์มาอยู่ช่วงระยะเวลานานพอสมควร ในส่วนของพระสงฆ์และนักบวชคาทอลิกมีการประชุมกันกับศาสนาอาจารย์โปรเตสแตนท์และศิษยาภิบาลเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงข้อความเชื่อต่างๆ และอธิษฐานภาวนาร่วมกันในภาคเหนือ มีความร่วมมือในงานของสมาคมพระคริสตธรรม ส่วนกลางสภาตริสตจักรในประเทศไทยและคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนสัมพันธ์ร่วมกันจัดการและอธิษฐานภาวนาร่วมกันเพื่อเอกภาพคริสตชน และกิจกรรมอื่นๆ การจัดสัมมนาข้อเชื่อคาทอลิก- ไปร เตสแตนท์ โดยความร่วมมือของวิทยาลัยแสงธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ โรงเรียนกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ และสถาบันศาสนศาสตร์ลูเธอร์แรน ปีละประมาณ 150 คน เพื่อเสริมสร้างให้ผู้ที่จะเป็นผู้นำ ทั้งศิษยาภิบาลและพระสงฆ์คาทอลิกได้สนใจที่จะทำงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคริสตชนตามพระประสงค์ของพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง
ประมวลภาพ
{gallery}net/15JAN16{/gallery}