ลักษณะงานธรรมทูต
งานธรรมทูตของพระศาสนจักรเป็นงานที่ออกมาจากธรรมชาติของพระศาสนจักร ที่มีชีวิตเป็นธรรมทูต (ดู AG. 2, 6 และ CL. 32) ทั้งนี้ เพราะว่าพระคริสตเจ้าทรงก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้น พร้อมทั้งส่งพระจิตเจ้ามาสถิตย์อยู่กับพระศาสนจักร (ดู LG. 4; AG. 1) เพื่อส่งพระศาสนจักรไปประกาศข่าวดีเกี่ยวกับพระอาณาจักรของพระเจ้าอันเป็นความรอดพ้นของมนุษยชาติ ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงทำสำเร็จแล้วและเกิดขึ้นจริงในพระองค์ตามพระประสงค์ของพระบิดาผู้ทรงส่งพระองค์มาในโลก (ดู LG. 17; AG. 5)
โดยพันธกิจที่พระศาสนจักรได้รับมอบหมายจากพระคริสตเจ้า (LG. 17 และ 20) งานธรรมทูตของพระศาสนจักรเป็นดังนี้:
1) เป็นงานประกาศข่าวดี (evangelization) แก่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษา (ad gentes) ดู AG. 6; RM. 31 ที่ยังไม่ได้รู้ความจริงหรือยังไม่มีความเชื่อเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า
2) เป็นงานหลักและงานชั้นต้นของการประกาศข่าวดี (ดู AG. 35)
3) เป็นงานที่ต้องดำเนินการในช่วงเวลาระหว่างการเสด็จมาในโลกครั้งแรกของพระคริสตเจ้า กับครั้งที่สองของพระองค์ (AG. 9)
การประกาศข่าวดีดังกล่าว มิใช่อะไรอื่นแต่เป็น:
1) งานเผยแผนการของพระเจ้าให้ได้รู้ชัดๆ (The manifestation of God plan) เผยพระคริสตเจ้าให้ประจักษ์แจ้ง (The Epiphany) และเผยผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง (The Reality) ในโลกและในประวัติศาสตร์ (AG. 9: RM. 41)
2) หรืองานเปิดเผยธรรมล้ำลึกของพระเจ้า (AG. 24; CL. 36) ธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า (AG. 24) และธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับความรอดและชีวิตที่พระเจ้าประทานให้ (ดู AG. 10)
3) หรืองานเผยแสดงความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ทุกคน และทุกชาติ (ดู AG. 10)
4) หรืองานเผยแผ่ความเชื่อและความรอด (ดู AG. 5. 21. 23; Can. 211 และ 225)
กล่าวโดยสรุปก็คือ การประกาศข่าวดีเป็นเรื่องของการดำเนินงานเผยแผ่พระคริสตธรรม (เผยแผ่ธรรมของพระคริสตเจ้า) พร้อมทั้งเผยแสดงความรอดของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วในพระคริสตเจ้าให้ปรากฏแจ้งนั่นเอง (AG. 5)
ดังนั้น งานธรรมทูต จึงมิใช่งานที่ทำโดยวาจาเท่านั้น (ดู EN. 17) แต่เป็นงานที่ทำทั้งโดยวาจาและโดยทางกิจการควบคู่กันไปด้วย (LG. 11; AG. 15: AA. 6)
งานธรรมทูตของพระศาสนจักรเป็นงานก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้นท่ามกลางชุมชนของท้องถิ่นต่างๆ ที่พระศาสนจักรยังไม่ได้ก่อตั้งขึ้นควบคู่ไปกับการประกาศข่าวดีด้วย (The implanting of the Church among peoples or groups in which it has not yet taken root) (AG. 6)
การก่อตั้งพระศาสนจักรดังกล่าว เป็นเจตนารมณ์ของพระคริสตเจ้า (ดู RM. 48-49) ด้วยเหตุว่าพระองค์ทรงเสด็จมาในโลกเพื่อทำตามน้ำพระทัยพระบิดาที่ทรงประสงค์จะรวบรวมมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาให้เป็นประชากรหนึ่งเดียวของพระเจ้า (ดู AG. 2) อันเป็นสภาวะของการอยู่ในความรอดในพระอาณาจักรของพระเจ้า พระคริสตเจ้าซึ่งเป็นผู้กอบกู้มนุษยชาติให้รอด จึงทรงก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดของมวลมนุษย์ ควบคู่ไปกับการเป็นเครื่องมือทำงานเพื่อความรอดของพวกเขาทั้งหลายด้วย (The sacrament of salvatign- AG. 5 เทียบ LG. 1, 48; GS. 42) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพระคริสตเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรขึ้นมาเพื่อ
1) เป็นเมล็ดพันธุ์หรือจุดเริ่มต้นของพระอาณาจักรของพระเจ้าที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในโลก (ดู LG. 3 และ 5)
2) เป็นประจักษ์พยานของพระองค์ในการช่วยมนุษย์ให้รอด (LG. 12, 34; AG. 11, 15, 37: AA. 3:RM. 43)
3) เป็นเครื่องหมายถึงการสถิตอยู่ของพระเจ้าในโลก (AG. 15; RM. 49)
4) เป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิตอยู่ในความรอด (AG. 12. 14. 15. 36: AA. 6)
5) เป็นแสงสว่างในท่ามกลางมวลมนุษย์ (AA. 6)
ในงานธรรมทูตของพระศาสนจักร การประกาศข่าวดีแก่ปวงชนและการก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้นในท่ามกลางพวกเขา ที่พระศาสนจักรเข้าไปทำงานธรรมทูต ต้องดำเนินควบคู่กันไป เนื่องด้วยว่าการนำผู้กลับใจมาเชื่อในพระคริสตเจ้าและการเข้ารับศีลล้างบาป เป็นงานส่วนหนึ่งในการประกาศข่าวดี (ดู RM. 46) และจะต้องนำผู้ได้รับศีลล้างบาปนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรที่ก่อตั้งอยู่แล้ว หรือ รวมพวกเขาเข้าด้วยกัน ก่อตั้งเป็นชุมชนคริสตชนขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง และเมื่อจัดรวมชุมชน คริสตชนเหล่านี้ ที่กระจายกันอยู่ในท้องที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน ก็จะเป็นพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งใหม่ขึ้นมา เพื่อว่า พระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้จะรับหน้าที่ทำงานธรรมทูตในท้องถิ่นของตนต่อไป (ดู AG. 6, 19: RM. 48-50: CL. 27: Can. 786)
งานธรรมทูตมีความแตกต่างจากงานอภิบาล และงานฟื้นฟูเอกภาพระหว่างพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้านิกายต่างๆ กล่าวคือ
(1) แตกต่างในด้านบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการดำเนินงานนั่นคือ
1) งานธรรมทูตมุ่งเข้าถึงบุคคลที่ยังไม่ได้รับข่าวดี (LG. 17.19: AG. 5: SS. 6. 9; Can. 786)
2) งานอภิบาลมุ่งดูแลบุคคลที่มีความเชื่อและอยู่ในพระศาสนจักรแล้ว (LG.18: SS. 9)
3) งานฟื้นฟูเอกภาพฯ มุ่งเข้าหาพระศาสนจักรนิกายต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ร่วมเอกภาพเดียวกันในพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า (UR.3)
(2) แตกต่างในด้านสาระของงานที่ต้องทำนั่นคือ
- งานธรรมทูตมีเป้าหมายหลัก 2 ประการ ดังนี้
+ มุ่งงานประกาศข่าวดีสู่ปวงชนที่ยังไม่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า
+ มุ่งงานก่อตั้งพระศาสนจักรในท้องถิ่นต่างๆ
- งานอภิบาลมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ (ดู LG. 20, 21; CD. 15-17; UR. 2) ดังนี้
+ เสริมสร้างความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ (sanctifying)
+ เสริมสร้างความหวัง ความรัก (teaching)
+ ดูแลการดำรงชีวิตของคริสตชน (Ruling)
- งานฟื้นฟูเอกภาพฯ มีเป้าหมายอยู่ที่:
+ เอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางการเข้ามาอยู่ร่วมเอกภาพเดียวกันในพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า (ดู UR. 3-4)
+ ทำงานร่วมกันในงานเพื่อสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และกิจกรรมศาสนา (UR. 12; AG. 15; RM. 50)
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่งานดังกล่าวทั้งงานธรรมทูต งานอภิบาล และงานฟื้นฟูเอกภาพก็รวมอยู่ในกระบวนการประกาศข่าวดีด้วยกัน ดังนั้น งานดังกล่าวจะต้องดำเนินไปในลักษณะที่เชื่อมโยง ส่งเสริม และสนับสนุนซึ่งกันและกัน (ดู CL. 33)
แนวทางการดำเนินงาน
การประกาศข่าวดีหรือการเผยแผ่พระคริสตธรรมแก่ปวงชนผู้ยังไม่มีความเชื่อ (ดู ข้อ 31) มีวิธีการดำเนินงานดังนี้
1) เป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้า (Witness to Christ-ดู RM. 42-43; ดู AG.21; เทียบ Can.787.1)
2) ประกาศพระคริสตเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดพ้นให้เป็นที่รู้จักในขั้นต้น (Initial Proclamation of Christ the Savior-ดู RM. 44-45)
3) สอนให้กลับใจ และรับศีลล้างบาป(Conversion and Baptism-RM.46-47;เทียบ Canon 787.2)
4) ก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่น (Forming Local Churches ดู RM. 48-51; เทียบ Can. 786)
5) นำพระวรสารเข้าสู่วัฒนธรรมนานาชาติ (Incarnating the Gospel in Peoples’Cultures-ดู RM.52-54 เทียบ Can.787.1)
6) เสวนาเพื่อศาสนสัมพันธ์ (Interreligious dialogue-ดู RM. 55-57; เทียบ Canon 787)
7) ส่งเสริมงานพัฒนา โดยให้การอบรมมโนธรรมที่ถูกต้อง (Promoting Development by Forming Consciences-ดู RM. 58-59 เทียบ Can. 788.2 และ 789)
8) ปฎิบัติเมตตากิจ (Charity Works-ดู RM. 60)
(ดูสมณสาสน์ Redemptoris Missio และ Evangelii Nuntiandi)
การก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่น ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการประกาศข่าวดี ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1) กำหนดอาณาเขตพื้นที่หรือแหล่งชุมชนผู้ยังไม่รู้จักพระคริสตเจ้า เพื่อเข้าไปทำงานธรรมทูต (ดู AG.14)
2) ตั้งศูนย์งานอภิบาล (Pastoral Center-สถานพักสอนศาสนา) คำใน พรบ. 128
3) ตั้งชุมชนวัด (ดู AG.15)
4) รวมชุมชนวัดต่างๆ เพื่อจัดตั้งเป็นศาสนจักรท้องถิ่นขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง (ดู AG. 19) ซึ่งจะรับผิดชอบต่อพันธกิจของพระศาสนจักรในการประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทั้งปวง เช่นเดียวกับพระศาสนจักรอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาอย่างมั่นคงก่อนแล้วนั้นต่อไป (ดู CD 22; AG.6 และ 19;Can. 786)
แม้ว่างานธรรมทูตมีกิจกรรมหลายอย่างและมีขั้นตอนในการปฏิบัติ แต่ถึงกระนั้นสามารถจัดดำเนินการไปพร้อมๆกัน หรือผสมผสานกัน หรือสลับก่อนหลังกันได้ ทั้งนี้ตามความเหมาะสมอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ (ดู AG.6; CD.17)
ต้องไม่บังคับให้ผู้ใดเข้าถือศาสนา หรือชักนำให้ใครเข้าถือโดยวิธีการอันไม่สมควร (ดู AG. 13; Can.748.2)
เมื่อประสบสิ่งดีงามไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางจิตใจหรือความคิด หรือเป็นเรื่องของจารีตพิธี และวัฒนธรรมประจำชาติ จะต้องไม่เพียงแต่ไม่ทำลายเลิกล้มไปเท่านั้น แต่ยังต้องเชิดชูหรือปรับปรุง ตกแต่ง หรือนำไปเสริมสร้างให้เป็นเกียรติมงคลแด่พระเจ้า (ดู LG.17)
เนื่องจากพระศาสนจักรมีธรรมชาติเป็นธรรมทูต ซึ่งมีการประกาศข่าวดีเป็นงานเบื้องต้นและเป็นงานหลักคริสตชนทุกคนจึงต้องตระหนักถึงการมีส่วนรับผิดชอบในงานธรรมทูต (ดู Can. 781)
ผู้มีส่วนในงานธรรมทูตและผู้เป็นหลักสำคัญในการดำเนินงาน คือ
1) พระสังฆราช (ดู AG. 6: CD. 6; Can. 782 และ 790-791)
2) พระสงฆ์ (AG. 20, 38-39; Can.784)
3) สมาชิกสถาบันผู้ถวายชีวิตแด่พระเจ้า(นักพรต-นักบวช)(Consecrated life) (ดูAG. 40;Can. 783-784)
4) สมาชิกองค์กรคริสตชนฆราวาส (AG.41: Can 784)
5) ครูสอนคำสอน (AG.17; Canon 785)
เนื่องด้วยคริสตชนฆราวาสทั่วไป ได้รับสิทธิและหน้าที่ในการประกาศข่าวดี โดยทางศีลล้างบาป และเสริมด้วยศีลกำลัง (ดู AA 3: Can. 255.1 และ 759) จึงมีสิทธิและหน้าที่ในงานธรรมทูต(ดู AA. 6: Can.211) ดังนั้นต้องสนับสนุนคริสตชนฆราวาสให้เข้ามีส่วนร่วมงานธรรมทูตตามสถานภาพและเงื่อนไขชีวิตของเขาด้วย(ดู AG. 41)
อนึ่งกิจการของคริสตชนฆราวาสเป็นสิ่งจำเป็นถึงขั้นที่ว่าถ้าขาดไปการทำงานธรรมทูตของผู้อภิบาล ไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์(ดู AA. 10; AG. 21)
เพื่อให้การทำงานธรรมทูตมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการประสานงานระหว่างกัน(ดู AG. 29-30: Can.790) ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน(ดู AG.30 และ CD.17) และมีการร่วมมือระหว่างกันในงานที่วางแผนไว้ (ดู AG.36-37)
ขอบเขตของอำนาจหน้าที่
ฝ่ายงานธรรมทูตเป็นส่วนงานที่ริเริ่ม ส่งเสริม ดูแล และประสานงานธรรมทูตในอัครสังฆมณฑลตาม Can.790-791
โครงสร้างการดำเนินงาน
ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูตซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม Can. 791.2 มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับงานธรรมทูตในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ตามข้อ 45 และตามแนวทางของกฤษฎีกาสมัชชาอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ค.ศ. 2005 บทที่ 10 โดยจำแนกการปฏิบัติงานออกเป็นกลุ่มงานและแผนกงานดังนี้
1.กลุ่มงานอำนวยการ
1.1 สำนักงานอำนวย : มีหน้าที่ดังนี้
1) เสนอแผนงานโครงการและงบประมาณเกี่ยวกับบุคลากร วิธีการ พื้นที่ หรือกลุ่มชนเป้าหมาย และความต้องการต่างๆ
2) ติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผล
3) ดูแลการรับจ่ายเงิน และบัญชี
4) ดูแลงานเอกสาร และธุรการอื่นๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ
1.2 แผนกประสานสัมพันธ์ มีหน้าที่ดังนี้
1) ติดต่อกับเขตปกครองวัด วัด และองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับสังฆมณฑลและระดับชาติ เพื่อความร่วมมือทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด (CD 17)
2) ติดต่อองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับงานธรรมทูต เพื่อขอการสนับสนุนเป็นต้นว่า PMS,หน่วยงาน Missio,Caritas ฯลฯ
3) ดูแลเกี่ยวกับงานวันมิสซังและวันอื่นๆ และรวบรวมเงินบริจาคส่งสภาพระสังฆราชฯตามกำหนด
2.กลุ่มงานเสริมสร้างศักยภาพ
2.1 แผนกสนับสนุนงานธรรมทูต : มีหน้าที่ดังนี้
1) สร้างหรือจัดหาบุคลากร และสิ่งจำเป็นสำหรับดำเนินงานธรรมทูต เช่น ครูสอนคำสอน (ดู AG. 17; Can. 785) หนังสือ สื่ออื่นๆ ยานพาหนะ และศูนย์งานอภิบาล (ดู Can. 779)
2) ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับงานธรรมทูตด้านต่างๆ(ดู Can.785.2) เป็นต้นว่าด้านศาสนสัมพันธ์ และคริสตศาสนจักรสัมพันธ์ เพื่อให้มีจิตสำนึกแห่งการประกาศข่าวดีอย่างเข้มแข็ง(ดู AG. 16)
2.2 แผนกองค์กรคริสตชนฆราวาส มีหน้าที่ดังนี้
1) ฝึกอบรมองค์กรคริสตชนฆราวาส เป็นระยะๆ เพื่อส่งเสริมให้รับใช้พระศาสนจักรในงานธรรมทูตตามรูปแบบและกรอบการทำงานขององค์กรอย่างเข้มแข็งและกระตือรือร้น
2) สนับสนุนองค์กรคริสตชนฆราวาสให้เติบโตขยายตัวยิ่งขึ้น
3. กลุ่มงานปฏิบัติการ
3.1 แผนกหน่วยเคลื่อนที่ (Mobile teams) : มีหน้าที่ดังนี้
1) สร้างเครือข่ายกับวัด หน่วยงานของสังฆมณฑล สถาบันชีวิตที่ถวายแล้ว และองค์กรต่างๆเพื่อจัดเป็นทีมงานที่เหมาะสมสำหรับงานที่จะดำเนินการในพื้นที่
2) เตรียมความพร้อมก่อนลงมือดำเนินการ
3) ออกปฏิบัติการตามพื้นที่ และระยะเวลาตามที่วางแผนไว้
3.2 แผนกศาสนสัมพันธ์ และคริสตศาสนจักรสัมพันธ์ : มีหน้าที่ดังนี้
1) สนับสนุนงานศาสนสัมพันธ์และหรือคริสตศาสนจักรสัมพันธ์ที่ชุมชนวัด องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ จัดขึ้น
2)จัดงานหรือเข้าร่วมงานเกี่ยวกับศาสนสัมพันธ์ หรือคริสตศาสนจักรสัมพันธ์ ทั้งระดับสังฆมณฑล ระดับชาติ และระดับอื่นๆ
3.3 แผนกสอนคำสอนผู้ประสงค์จะเรียนรู้ศาสนา : มีหน้าที่ดังนี้
1) เปิดหลักสูตรการเรียนรู้ในศูนย์งานอภิบาล
2) ฝึกอบรมตามกระบวนการเข้าเป็นคริสตชน