/home/missionbkk/public_html/templates/30aug182/component.php on line 5
"> พระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า

virgin mary

     ระหว่าง 12 วันช่วงเทศกาลพระคริสตสมภพ พระศาสนจักรคาทอลิกมีการเฉลิมฉลองวันสำคัญมากมาย รวมไปถึงวันฉลองนักบุญสเตเฟน มรณสักขีองค์แรกในวันที่ 26 ธันวาคม ซึ่งการถูกทรมานของท่านได้รับการกล่าวถึงในหนังสือกิจการอัครสาวก บทที่ 6 และ 7 และตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นในหนังสือวิวรณ์ และจดหมายนักบุญยอห์นอีก 3 ฉบับอีกด้วย วันทารกผู้วิมล เป็นวันที่กษัตริย์เฮโรด มีพระราชโองการให้สังหารทารกในแผ่นดินที่พระองค์ปกครอง เพียงเพราะต้องการสังหารพระกุมารเยซูเจ้า
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือวันที่ 8 หลังวันพระคริสตสมภพ คือ วันสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี
พระนางมารีย์พระชนนีพระเจ้าในแง่ประวัติศาสตร์

     ในช่วงต้นศตวรรษของพระศาสนจักร ได้เริ่มการเฉลิมฉลองวันพระคริสตสมภพ กันเป็นครั้งแรกของพวกเขาในวันที่ 25 ธันวาคม และวันพระคริสตเจ้าแสดงองค์ วันที่ 6 มกราคม วันที่ 8 หลังวันพระคริสตสมภพถูกจัดให้เป็นวันที่มีความหมายพิเศษ สำหรับพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตก ได้กลายเป็นวันสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีของพระเจ้า วันสมโภชนี้ไม่ได้ปรากฏในปฏิทินสากลของพระศาสนจักร อย่างไรก็ตาม มีการสมโภชการเข้าพิธีสุหนัตของพระกุมารเยซูเจ้า (วันสมโภชนี้เกิดขึ้นในอีก 1 อาทิตย์หลังวันพระคริสตสมภพ) ซึ่งพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตกแยกกันฉลอง ซึ่งในที่สุดก็ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันสมโภช
     ด้วยการแก้ไขปฏิทินพิธีกรรม ในช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนพิธีกรรมมิสซาใหม่ (Novus Ordo Missae) วันสมโภชพิธีสุหนัต ซึ่งมีประเพณีสืบต่อกันมาแต่โบราณก็ได้ถูกพักไว้ และได้ถูกแทนที่ด้วยวันสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า ซึ่งวันสมโภชนี้เป็นสากลและใช้ร่วมกันทั้งพระศาสนจักรตะวันตกและตะวันออก
วันแห่งพันธสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์
     พระศาสนจักรมีความเคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระนางพรหมจารีมารีย์ จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยถือว่าวันนี้ เป็นวันแห่งพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ในฐานะพระชนนีพระเป็นเจ้า ของพระนางมารีย์ด้วย วันสมโภชนี้เตือนใจเราถึงความศักดิ์สิทธิ์ และนิรมลของพระนางมารีย์ ซึ่งทรงรับเอาพระวจนาตถ์ ในแผนการแห่งความรอดเพื่อเราทุกคน เมื่อพระนางมารีย์ได้ตอบรับสารของทูตสวรรค์ว่า “จงเป็นไปแก่ข้าพเจ้า ตามวาทะของท่าน”
ผู้ให้กำเนิดพระคริสตเจ้า
หนึ่งในชื่อที่เก่าแก่ที่สุด ที่คริสตชนเรียกขานพระนางพรหมจารีก็คือ “ผู้ให้กำเนิดพระคริสตเจ้า” เราจึงสมโภชสถานภาพของแม่พระในฐานะพระชนนีพระเป็นเจ้าด้วย เพราะในขณะที่พระนางได้ทรงครรภ์ พระนางได้ทรงรับความบริบูรณ์ของพระเจ้า (ความเป็นตรีเอกภาพ) ในครรภ์ของพระนางด้วยเช่นกัน 

เป็นการดีที่ในทุกๆปี เมื่อเราเริ่มต้นปีใหม่ เราจะได้มีแรงบันดาลใจจากความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว จากพระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า ผู้ไม่เคยลังเลที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า และเราวางใจในคำวิงวอนของพระนาง ต่อพระเป็นเจ้าเพื่อเรา เพื่อว่าเมื่อวันเวลาผ่านไป จะทำให้เราเป็นเฉกเช่นดั่งพระนางด้วยเช่นกัน

บทข้าแต่พระชนนีพระเจ้า
     ข้าแต่พระชนนีพระเจ้า ลูกทั้งหลายหลบภัยมาพึ่งพระแม่ โปรดอย่าเมินเฉยต่อคำวอนขอในยามทุกข์ร้อนของลูก แต่โปรดช่วยลูกให้พ้นภัยทั้งสิ้นเสมอเถิด พระมารดาพรหมจารีผู้ทรงได้รับพระพร
(ที่มา : นิตยสารแม่พระยุคใหม่, ปีที่ 39 ฉบับที่ 229, เดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2020/2563 หน้า 10 – 12)