/home/missionbkk/public_html/templates/30aug182/component.php on line 5
"> 20 กันยายน นักบุญ อันดรูว์ กิมเตก๊อน พระสงฆ์ เปาโล จง ฮาซัง และเพื่อนมรณสักขีชาวเกาหลี

20 กันยายน นักบุญ อันดรูว์ กิมเตก๊อน พระสงฆ์
เปาโล จง ฮาซัง และเพื่อนมรณสักขีชาวเกาหลี

     ผ่านไปเป็นเวลานานถึง 200 ปีที่พระศาสนจักรเกาหลี ดินแดนที่อยู่อย่างสงบเงียบ รอคอยแสงอรุณที่จะฉายส่องมาในยามเช้า เมื่อ 5,000 ปีมาแล้วนั้น บรรพบุรุษของเขาแหงนมองดูบนท้องฟ้า กราบไหว้นมัสการพระเจ้าสูงสุดและพวกเขาเชื่อถึงชีวิตในสวรรค์ ชนรุ่นหลังก็ยังคงรักษาความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขาไว้สืบทอดต่อๆมา พวกเขาสวมเสื้อผ้าสีขาวเรียกว่า “บุตรแห่งความสว่าง” เป็นการเริ่มต้นที่สวยงามและสำคัญของ “ประวัติย่อๆ ของพระศาสนจักรคาทอลิกในเกาหลี” ซึ่งได้ให้กับผู้มาเยี่ยมเยียนพระศาสนจักรแห่งนี้ เป็นประเทศเดียวในเอเชียกับฟิลิปปินส์ซึ่งถือว่าศาสนาคาทอลิกเป็นศาสนาของประชาชน

     พระศาสนจักรในเกาหลีเริ่มจากบรรดาฆราวาส ที่ควรจดจำเป็นพิเศษ คือ ยี บีโยก มีความหมายคือ “ของประทานที่แท้จริงจากพระญาณสอดส่อง” ในปี ค.ศ.1779 ท่านได้ริเริ่ม “กังฮักโฮย” หรือ ศูนย์กลางในการแสวงหาอบรม ท่านได้รวบรวมพระคัมภีร์พระธรรมใหม่และพระธรรมเดิมเป็นร้อยแก้วและสรุปคำสั่งสอนของพระศาสนจักรเป็นร้อยกรอง จีออง ยัก จอง เขียน “บทเพลงแห่งบัญญัติ 10 ประการ” จากจุดนี้เอง รัฐบาลซึ่งไม่อนุญาตให้บรรดาธรรมทูตเข้ามาในประเทศ หรือแม้กระทั่งไม่ยอมให้พลเมืองในประเทศรับสิ่งที่ชาวต่างชาตินำมา “กังฮักโฮย” เป็นจุดเริ่มทำให้ยี เซอุง ฮูน เข้ามาสู่พระศาสนจักรคาทอลิกแห่งเปกีโน เพื่อรับศีลล้างบาป แต่ไม่นานนักก็มีการรับศีลล้างบาปด้วยเลือดเช่นกัน เมื่อบิดาของ ยี เซอุง ฮุน ถูกขู่เข็ญให้ฆ่าตัวตายถ้าไม่ยอมละทิ้งศาสนาคริสต์ แต่ยอห์น บัปติสตา ยี บีหยก ยืนยันความเชื่อของท่านด้วยการจำศีลอดอาหาร รำพึง ภาวนาทั้งวันทั้งคืน โดยไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า และนั่งบนพื้นดินโดยไม่ขยับเขยื้อนเลย หลังจากการอดอาหาร 15 วัน ท่านได้สิ้นใจอย่างศักดิ์สิทธิ์และด้วยความกล้าหาญ ด้วยอายุเพียง 31 ปี ในปี ค.ศ.1785
     การรับศีลล้างบาปยังคงขาดการจัดระบบระเบียบจากพระสงฆ์ บรรดาฆราวาสผู้ก่อตั้งพระศาสนจักรในเกาหลีได้จัดตั้งโครงสร้างเกี่ยวกับการปกครองสงฆ์ขึ้นมา ดังนั้น ในปี ค.ศ.1795 ที่เปกีโน จึงมีพระสงฆ์องค์แรก คือ ยากอบ มูนโม แต่รัฐบาลเกาหลีได้สั่งให้จับท่านเข้าคุก คนต่อๆมาก็ถูกจับขังและถูกฆ่าเช่นเดียวกัน ในปี ค.ศ.1831 สังฆมณฑลโจว เซอัน ซึ่งมีคริสตชนถึง 50,000 คน แต่ยังขาดพระสังฆราชและพระสงฆ์ ฆราวาสชายเปาโล จง ฮาซังก็ได้ถูกตัดศีรษะในปีเดียวกัน คือ ปี ค.ศ.1831 ในสถานที่เดียวกันกับ ออกัสติน บิดาของท่านได้ถูกประหาร
     ในช่วงระยะปี ค.ศ.1839 – 1840 เกิดการเบียดเบียนคริสตชนอย่างรุนแรงในเกาหลี เพื่อให้พวกเขายอมละทิ้งการเป็นพยานยืนยันความเชื่อในพระคริสตเจ้า ชนพื้นเมืองเป็นจำนวนมากกลับใจ พร้อมกับบรรดาธรรมทูตที่มาจากต่างประเทศ อิมเบิร์ตเป็นธรรมทูตทำงานในประเทศจีนมาก่อนที่จะได้บวชเป็นพระสังฆราช และส่งมาอยู่ที่เกาหลี ต่อมาท่านถูกจับขังคุก ถูกทรมานอย่างทารุณโหดร้ายก่อนที่จะถูกประหารชีวิตพร้อมกับพระสงฆ์ของท่านอีก 2 องค์ คือ เปโตร เมายันท์ และ ยากอบ ซัสทั่น ในปี ค.ศ.1846 สนามแห่งการเป็นมรณสักขียิ่งทียิ่งขยายจำนวนมากขึ้น ส่วนมากเป็นฆราวาสเกาหลีซึ่งเผชิญหน้าต่อการเป็นมรณสักขีด้วยความสงบและศรัทธาต่อบรรดามรณสักขีรุ่นแรกๆในพระศาสนจักร ในบรรดามรณสักขีเหล่านี้มีผู้นำในท่ามกลางพยานยืนยันตามความเชื่อ เป็นพระสงฆ์องค์แรกของเกาหลีและเป็นจิตตาภิบาลด้วย คือ อันดรูว์ กิมเตก๊อน และเปาโล จง ฮาซัง ซึ่งเป็นฆราวาสรวมอยู่ในบรรดามรณสักขี 79 ท่านนี้ด้วย ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีในปี ค.ศ.1925
     บรรดามรณสักขีที่เราระลึกถึงในวันนี้ พร้อมกับคนอื่นๆอีก 102 ท่านซึ่งส่วนมากเป็นฆราวาส ชาย และ หญิง แต่งงานและเป็นโสด คนชรา คนหนุ่มสาว และเด็ก เหยื่อแห่งการถูกเบียดเบียนในปี ค.ศ.1839 1866 และ 1867 ท่านเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีในปี ค.ศ.1925 และในปี ค.ศ.1968 และได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในปี ค.ศ.1984 ที่กรุงโซล นับเป็นการสถาปนานักบุญนอกกรุงโรมเป็นครั้งแรกในสมัยนี้
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ขอให้แบบอย่างของบรรดามรณสักขีเตือนใจเราคริสตชนให้สำนึกหน้าที่แพร่ธรรมที่พระคริสตเจ้าทรงมอบให้เราทุกคน
2. ขอให้บรรดาฆราวาสร่วมมือกับพระสังฆราชและพระสงฆ์เพื่อความเจริญก้าวหน้าของพระศาสนจักร
3. ขอให้พระวาจาของพระเป็นเจ้า เป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจของคริสตชนทุกคนด้วยเทอญ
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, สมุทรปราการ, บ.สตาร์บูม อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, 2007, หน้า 371 – 373)