/home/missionbkk/public_html/templates/30aug182/component.php on line 5
"> 14 กันยายน ฉลองการเทิดทูนไม้กางเขน

14 กันยายน ฉลองการเทิดทูนไม้กางเขน

     วันนี้ พระศาสนจักรตะวันออกฉลองไม้กางเขนอย่างสง่ามโหฬาร ซึ่งเทียบได้กับการฉลองปัสกาเลยทีเดียว ที่กรุงเยรูซาเล็มจักรพรรดิคอนสแตนตินได้ทรงสร้างพระวิหาร 2 หลัง หลังหนึ่งบนเนินกลโกธา และอีกหลังหนึ่งบนที่บรรจุพระศพของพระคริสตเจ้าผู้ได้เสด็จกลับคืนพระชนมชีพ พระวิหารทั้งสองนี้ได้รับการอภิเษกในวันที่ 13 กันยายน 335 และในวันรุ่งขึ้นได้มีการเรียกประชุมบรรดาสัตบุรุษให้คิดถึงความหมายอันลึกซึ้งของพระวิหารทั้งสองนี้ พร้อมกับได้นำสิ่งที่ยังคงเหลือไว้จากไม้กางเขนของพระผู้ไถ่ออกแสดงด้วย

     จากธรรมเนียมอันนี้เองที่เราได้เริ่มทำการฉลองการเทิดทูนไม้กางเขน ในวันที่ 14 กันยายน แต่พระศาสนจักรที่กรุงโรมได้เริ่มทำการฉลองนี้ประมาณศตวรรษที่ 7 และในวันฉลองนี้เองซึ่งต่อมาได้ทำการผนวกการระลึกถึงชัยชนะของจักรพรรดิเฮราคลีอุส ที่มีต่อชาวเปอร์เซียในปี 630 เข้าไป จากชัยชนะนี้จักรพรรดิได้ทรงชิงเอาพระธาตุของไม้กางเขนกลับคืนมา และได้มีการแห่แหนพระธาตุนี้อย่างสง่ากลับคืนสู่กรุงเยรูซาเล็ม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระศาสนจักรได้ทำการฉลองชัยชนะของไม้กางเขนในวันนี้เรื่อยมา เพราะไม้กางเขนเป็นอุปกรณ์และสัญลักษณ์แห่งการช่วยให้รอดพ้นของเราทุกคน
     จะเห็นได้ว่า ในการถวายบูชามิสซา มีกางเขนตั้งอยู่บนพระแท่นหรือได้รับการตั้งไว้ใกล้ๆพระแท่น อันเป็นธรรมประเพณีทางพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องเตือนเราสัตบุรุษให้ระลึกถึงรูปแบบของงูทองเหลืองในพระธรรมเดิมที่โมเสสได้ยกตั้งขึ้นไว้ในถิ่นทุรกันดาร คือเมื่อชาวฮีบรูโดนงูกัด แล้วหันมามองดูงูทองเหลืองนี้ก็จะรอดตาย นักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร บันทึกไว้ในพระวรสารที่เล่าถึงบพระทรมานของพระเยซูเจ้า ท่านได้มีความคิดถึงรูปแบบของสัญลักษณ์อันมีความหมายลึกซึ้งนี้ได้ เล่าว่า “เขาทั้งหลายจะมองดูผู้ที่เขาแทง” ( ศคย 12:10 ; ยน 19:37)
     ตลอดกระแสศตวรรษ สัญลักษณ์แห่งไม้กางเขนได้ทำให้ทุกหัวระแหงของแผ่นดินนี้ และการแห่แหนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางสังคมหรือส่วนตัวก็ตามศักดิ์สิทธิ์ไป ทว่าในสมัยนี้รู้สึกว่าจะเสี่ยงต่อการถูกโยนทิ้งไปไว้ต่างหากโดยไม่มีใครเอาใจใส่เหลียวดู หรือที่ร้ายกว่านั้น ได้กลายเป็นอุปกรณ์ในการหาเงินของพวกนักออกแบบ หรือเครื่องแต่งตัวที่หัวแหลมไปเลย และคงจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายนักถ้าหากสัญลักษณ์นี้จะช่วยหันความคิดของเรา ไปหา “ไม้กางเขน” ที่แท้จริงอยู่เสมอๆ นั่นก็คือ คนจน ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เด็กๆที่พิการ ฯลฯ พวกเขานี่แหละที่สมจะได้รับความรัก ความเอาใจใส่ดูแลและความช่วยเหลือจากพวกเราที่กินดีอยู่ดี ต้องไม่ลืมว่าเราได้รับความช่วยเหลือให้รอดโดยอาศัยพวกเขาด้วย เพราะคำเตือนของพระเยซูเจ้ายังคงใช้ได้เสมอสำหรับเราทุกๆคน “เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา” (มธ.25 : 35-36)
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, สมุทรปราการ, บ.สตาร์บูม อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, 2007, หน้า 360 - 361)