/home/missionbkk/public_html/templates/30aug182/component.php on line 5
"> 3 พฤษภาคม นักบุญฟิลิปและนักบุญยากอบ (ศตวรรษที่ 1) อัครธรรมทูต

3 พฤษภาคม นักบุญฟิลิปและนักบุญยากอบ
(ศตวรรษที่ 1) อัครธรรมทูต

     นักบุญฟิลิป ท่านเป็นศิษย์ของนักบุญยอห์น บัปติสต์ เป็นบุคคลหนึ่งในบรรดาอัครธรรมทูตรุ่นแรกๆ ของพระเยซูเจ้า ( ยน 1:43) ท่านเกิดที่เบธไซดา และเช่นเดียวกับอัครสาวกองค์อื่นๆ คือท่านอยู่ในกลุ่มที่พูดภาษากรีก ทั้งนี้เราสามารถตั้งข้อสมมุติฐานจากชื่อภาษากรีกของท่านและจากการที่ท่านมีความสัมพันธ์กับคนต่างศาสนา ( ยน 12:20-30)

     ในพระวรสารของนักบุญยอห์น ได้กล่าวถึงท่าน 3 ครั้งด้วยกัน (ยน 1:45 ; 6:5-7 ; 14:8) คือตอนที่ท่านต้องการเห็นว่าคำทำนายต่างๆในพระธรรมเดิมได้สำเร็จไปในองค์พระคริสตเจ้า (ยน. 1:45) และ ตอนทวีขนมปัง คือท่านได้ช่วยให้เราได้เข้าใจถึงอัศจรรย์ของการทวีขนมปัง ( ยน. 6:1 – 15 = พระวรสารของวันศุกร์สัปดาห์ที่ 2 ในเทศกาลปัสกา) โดยอาศัยแสงสว่างในการเดินทางออกจากประเทศอียิปต์ ของชาวอิสราเอล (กดว. 11:21-23) และที่สุดคือตอนที่ท่านได้แสดงความประสงค์ที่จะให้ “พระเยซูเจ้าแสดงพระบิดาให้ท่านเห็น” ซึ่งทำให้เราคิดถึงโมเสสที่วิงวอนพระยาห์เวห์ “ให้พระองค์แสดงพระเกียรติมงคลให้พวกเราได้เห็น” (อพย. 33:18) ทั้ง 3 ตอนนี้แสดงให้เราเห็นว่า เหตุการณ์ของพระเยซูเจ้านั้นสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในพระธรรมเดิม แต่ในวิธีการที่ต่างกัน
     เราไม่แน่ใจว่าธรรมประเพณีที่เราได้รับสืบทอดต่อกันมาเกี่ยวกับสถานที่ที่ทำงานแพร่ธรรม และที่ท่านได้รับมงกุฎของการเป็นมรณสักขีว่าเป็นประเทศตุรกีนั้นเชื่อได้มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ เรายังต้องทำการค้นคว้าหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์กันต่อไปอีก
     นักบุญ เจมส์ หรือยาโกเบ หรือ ยากอบ ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า “องค์เล็ก” เป็นหนึ่งในบรรดาอัครธรรมทูต 12 องค์ของพระคริสตเจ้า เป็นบุตรของอัลเฟอัส (มธ 10:3, มก 3:18, ลก 6:15) และตามธรรมประเพณีที่เราได้รับสืบทอดต่อกันมานั้นเป็นองค์เดียวกันกับที่เรามักจะเรียกว่า “ญาติของพระเยซูเจ้า” (มก. 6:3, มธ.13:55) และดูเหมือนท่านเองที่เป็นเจ้าของ “จดหมายของนักบุญยากอบ” โดยใช้ชื่อผู้เขียนว่า “ผู้รับใช้ของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์”
     ท่านได้เป็นองค์พยานของพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ(1 คร. 15:7) เป็นท่านเองที่นักบุญเปโตร ได้มาบอกข่าวเรื่องการหนีออกจากที่คุมขังมาได้ (กจ.12:17) เป็นท่านเองที่นักบุญเปาโล ซึ่งเพิ่งกลับใจได้มาทำการติดต่อกับท่าน (กท1:18) และที่สุดเป็นท่านเองที่มีบทบาทสำคัญในสภาสังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็ม (กจ.15: 13-29)
     ในปี 36 -37 เมื่อบรรดาอัครสาวกได้แยกย้ายกันไปประกาศพระวรสารแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าของพระศาสนจักรมารดาที่กรุงเยรูซาเล็ม (กจ.21:18-26) ที่สุด ท่านได้เป็นมรณสักขีประมาณปี 62
     ชีวประวัติหรือเรื่องราวต่างๆของบรรดาอัครธรรมทูต เราต้องให้ความสำคัญน้อยกว่าข้อเท็จจริงของวันฉลองท่านในความคิดที่ว่า “พระวาจาของพระเป็นเจ้าที่ท่านได้ประกาศเพื่อรวมมนุษย์ให้เข้ามาอยู่ในพระอาณาจักร และทุกวันนี้ได้ทรงเรียกเราให้มาชุมนุมกันที่โต๊ะศักดิ์สิทธิ์ ได้ช่วยสร้างสรรค์เราบนรากฐานของบรรดาอัครธรรมทูต และของผู้แทนของท่านท่ามกลางพวกเรา”
     สารที่มีชีวิตชีวาและที่ยังใช้ได้เสมอกับเราในทุกวันนี้ของ นักบุญยากอบ คือ ท่านได้ให้ความเคารพยกย่องผู้ยากจน และในขณะเดียวกันก็ได้เตือนสติบรรดาผู้ร่ำรวย ท่านได้กล่าวย้ำว่า ความเชื่อจะไร้ผลถ้าหากไม่มีกิจการของความยุติธรรม
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1.ขอให้คริสตชนอย่าได้เหน็ดเหนื่อยต่อการที่จะกระทำความดีในโลก
2. พร้อมกับนักบุญฟิลิป ให้เราวิงวอนขอบ่อยๆว่า “ข้าแต่พระคริสตเจ้า โปรดแสดงให้เราเห็นองค์พระบิดาเจ้าด้วยเถิด”
3. ข้าแต่พระคริสตเจ้า โปรดสอนเราให้รู้จักประกอบกิจการแห่งความเชื่อ
4. ขอให้คนป่วยหนักได้รับศีล “ศีลเจิมคนไข้” ด้วยความเชื่อ
(ที่มา : ย.วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, สมุทรปราการ, บ.สตาร์บูมอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, 2007, หน้า 177 – 179)