Get Adobe Flash player

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานฯ

Sahafr

บาทหลวงอนุรัตน์ ณ สงขลา

ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายงานธรรมทูต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

Facebook


banner face holych Custombanner_face_pmg_Custom.pngPresentation2 Custom

งานอื่นๆของฝ่าย

Slide6 CustomSlide5 Custom

เวลา

การภาวนา/คำภาวนา/วิธีภาวนา

  • การนำตัวเราเองเผชิญหน้าพบพระเจ้า ก็คือ การภาวนาของมนุษย์นั่นเอง การภาวนาเมื่อเทียบเป็นกิจการหนึ่งของมนุษย์ ก็คือการนำตัวเราอยู่ต่อหน้าการประทับอยู่ของพระเจ้าในตัวเราเอง เพื่อว่าเราเองจะสามารถเห็นการประทับอยู่ของพระองค์ในทุกคน และในทุกๆสิ่งรอบตัวเรา

     เพื่อที่จะภาวนาได้ เราจะต้องออกแรงเช่นกันที่จะสำรวมตน ตั้งจิตสำนึกตนทั้งด้านกายภาพ ความรู้สึก จินตนาการ ปรีชาญาณ อำเภอใจ ความต้องการ มิติเวลา สถานที่และสิ่งแวดล้อม เพื่อว่าตัวเราเองจะสามารถอยู่ตรงนี้ ที่นี้ เวลานี้จริง ต่อหน้าพระเจ้าในการพบปะกับพระองค์ด้วยความรักเป็นการส่วนตัว

  • อุปสรรค (ของการภาวนา) ก็คือการแสวงหาพระเจ้าเพื่อตัวเราเอง แทนที่จะภาวนาเพราะความรักต่อพระเจ้า แทนที่จะต้อนรับการประทับอยู่ของพระเจ้าในตัวเรา เรากลับปฏิบัติตัวกับพระองค์อย่างกับว่าพระองค์เป็นสิ่งของชนิดหนึ่งที่เราขวนขวายเพื่อสนองความอยาก ความต้องการของเรา

     คำภาวนา / การภาวนา ต้องเป็นการเปิดใจ เป็นการฟัง เป็นความเชื่อ เป็นการต้อนรับและเป็นการมอบตัวเองทั้งครบต่อพระองค์ คำภาวนา / การภาวนา นำเราจากการตั้งตัวเราเป็นศูนย์กลางของความอยากได้ต่างๆ ไปสู่ความรักผู้อื่น

  • องค์ประกอบของการภาวนาที่ดี ไม่ใช่เป็นการบรรเทาใจ การปลอบใจที่เรารู้สึกในใจ แต่เป็นการดำเนินชีวิตที่เปี่ยมด้วยความรักที่ก่อเกิดขึ้นแม้ท่ามกลางความแห้งแล้งของคำภาวนาของเรา

     เมื่อเรามีความรู้สึกดูเหมือนว่าเรากำลังวุ่นวายใจ ใจเหม่อลอยไปที่อื่น และแทบจะไม่รู้สึกว่ากำลังอยู่ต่อหน้าพระเจ้า แม้อาจจะมีคำภาวนาเพียงคำสองคำหลุดออกจากปากของเราก็ตาม เราก็ยังมีความหวัง ความปรารถนา แสวงหา โดยการนำของพระจิตเจ้า ซึ่งจะเสริมพลัง อำนาจ และกำลัง ที่จะรับใช้พระเจ้าและเพื่อนบ้านเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่คำนึงถึงว่าตัวเราเองจะลำบากเพียงใดก็ตาม

  • คำภาวนา / การภาวนา ไม่ใช่เป็นความพยายามที่จะเดินทางไปหาพระเจ้า แต่เป็นการเปิดตาของเราที่จะเห็นว่าเราอยู่ตรงนั้นแล้วกับพระองค์

     ความดีงามที่เราวอนขอในคำภาวนาของเรา ไม่ใช่ความพึงพอใจเป็นการส่วนตัวของการภาวนาที่ได้ผลตามความคิดส่วนตัวของเรา แต่เป็นการปลูกฝังทัศนะคติแห่งการมอบอุทิศตัวเองทั้งครบ ต่อพระเจ้าในทุกรายละเอียดของชีวิตประจำวันของเรา

  • กิจการงานไม่ควรทำให้การภาวนาของเราสะดุดหยุลง เพราะถ้าจะถือว่าการทำงานของเราเป็นวิธีการภาวนาเพียงรูปแบบเดียวของเราแล้ว การทำงานนั้นจะไม่ใช่เป็นการภาวนา และนั่นจะนำเราหักเหออกจากจุดศูนย์กลาง (พระเจ้า) เมื่อเราปั่นเครื่องซักผ้า เราคงเคยได้ยินเสียงเครื่องดินผิดปกติ และเราจะไม่ได้ยินเสียงเยี่ยงนี้ในชีวิตนี้ของเราเองด้วยหรือ? เมื่อเราได้ยินเสียงผิดปกตินี้แล้ว เราก็รู้ว่า เราควรหยุดและเสริมชีวิตจิตของเราให้เต็มใหม่ มันอาจจะเป็นเวลาที่ไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากภาวนา เป็นเวลาที่เราต้องพักซ่อมแซมเติมกำลังเพื่อตั้งศูนย์ใหม่ (re – align) เพื่อเริ่มต้นใหม่จากหัวใจและกิจการ การทำงานของเราก็จะเป็นการภาวนาไปในตัวด้วย เป็นการพิศเพ่งรำพึงถึงพระเยซูคริสต์ในการกระทำ/ การทำงานของเราไปในตัว
  • ถ้าข้าพเจ้าพบพระเจ้า ข้าพเจ้าก็จะพบตัวข้าพเจ้าเองด้วย และเมื่อข้าพเจ้าพบตัวตนที่แท้จริงของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าก็จะพบพระเจ้า และบุคคลผู้เดียวที่สามารถสอนข้าพเจ้าให้พบพระเจ้า ก็คือพระองค์เอง เพราะฉะนั้นจงภาวนาเพื่อการค้นพบตัวเราเอง
  • เมื่อการภาวนาหมายถึงการพบปะส่วนตัวด้านความรักกับพระเจ้าผู้ที่ซื่อสัตย์นิรันดร เราจึงต้อวพยายามสำนึกตนว่าเราอยู่ต่อหน้าพระองค์ทุกชั่วขณะของชีวิตของเรา นั่นคือ การรำลึกถึงประสบการณ์ชีวิตความเชื่อแห่งพระจิตของพระคริสต์ ณ ห้วงลึกของจิตใจของเรา ณ ที่นั่น พระเจ้ากำลังสัมผัสชีวิตของเรา และนี่คือความหมายของการภาวนาของมนุษย์  ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใด วิธีไหนก็ตาม องค์ประกอบที่จะช่วยตัดสินว่าวิธีใดที่เหมาะสมกับเรา ก็คือคำถามง่ายๆว่า วิธีนี้ใช้ได้กับเราไหม? วิธีนี้ในขณะนี้นำเราอยู่ต่อหน้าพระเจ้าไหม? วิธีนี้จะสามารถนำเราให้ดำเนินชีวิตที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักต่อพระเจ้า ต่อคนอื่น และกับตัวเราเองไหม? การภาวนาวิธีนี้เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูรู้คุณ ขอบพระคุณ ความสำนึกถึงความผิด ความทุกข์เสียใจที่ทำบาป สำนึกถึงจิตเมตตาและความปรารถนาพระเจ้าไหม? วิธีการภาวนาเช่นนี้นำเราลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการภาวนาไหม?
  • ในบรรดาวิธีการภาวนาต่างๆ ของคริสตชนนั้น ไม่มีวิธีใดที่เป็นศูนย์กลางจิตภาวนามากไปกว่าการพิศเพ่ง รำพึง ถึงชีวิตของพระเยซูคริสต์ตามคำบันทึกพระวาจาในพระวรสาร การภาวนาแบบพิศเพ่งเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า (Contemplation) นี้มีหลายแบบ นับแต่ วิธีรำพึงที่ลึกซึ้ง ลุ่มลึก การรำพึงพระวาจา พระคัมภีร์ จนถึงการสำนึกการประทับอยู่ของพระเยซูในเหตุการณ์ของชีวิตประจำวัน ข้อชี้บ่งที่ว่า วิธีที่ได้ผลสำหรับเรา ก็คือ การภาวนาที่ฟื้นฟูชีวิตของเราทั้งชีวิตกาย และ ชีวิตจิตให้ใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสต์มากขึ้นในชีวิตประจำวัน และในความรักต่อผู้อื่น
  • การภาวนาก็คือ การยืนอยู่ต่อหน้าพระเจ้า ด้วยสติปัญญาอยู่ในหัวใจ (WITH THE MIND IN THE HEART)
  • ความรักและการภาวนา แสวงหาวิธี รูปแบบ จินตนาการ ที่เปลี่ยนแปลง ฟื้นฟู ความจำเจประจำวัน และทำให้มันมีชีวิตชีวา
  • การภาวนา / คำภาวนา ของเรา ควรนำเราสู่จุดสงบนิ่ง (still Point) ในการเป็นอยู่ (our being) ในรากเหง้าของความเป็นตัวตน (root of existence) ในความสำนึกความเป็นตัวของตัวเอง (individuality) ของเรา ณ ที่ที่เราถูกสัมผัสโดยพระเจ้า และ ณ ที่ที่เราตอบรับในความนิ่งเงียบ ในความมืดมนของชีวิตว่า “พระเจ้าเป็นพระเจ้า” (God is God)

     ณ ที่ที่เราพึ่งพาพระเจ้า เราก็จะพบพระองค์ :

          + ณ ที่พระองค์ไม่ปรากฏตัว

          + ณ ความว่างเปล่าที่ถูกเติมเต็มด้วยพระองค์

          + ณ ที่ที่เรารู้ – ไม่ใช่ รู้ “ความรู้” แต่ รู้ “ความรัก” ของพระองค์

 สมกับบทสดุดีที่ว่า “จงสงบนิ่ง และรู้เถอะว่า เราคือพระเจ้าของเจ้า” (สดด 46 : 10)

 “จงลงไปในห้วงลึกสุดของชีวิตของเจ้า ของความเป็นอยู่ (Being) ของความเป็นตัวตน (EXISTENCE) ของเจ้าจนถึงจุดที่เจ้าจะกลับมาลุกขึ้นอย่างมีชีวิตชีวาด้วยความรักที่เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตของเรา (พระเจ้า) และ ณ ที่นั่น เจ้าก็จะพบเรา (พระเจ้า)”

  • ณ ที่นี้ การประทับอยู่ของพระเจ้า จะเป็นการบุกเข้ามาในชีวิตของเรา ทลายกำแพงแห่งความเห็นแก่ตัว การรักตัวเองที่ดึงถ่วงการพบปะของเรากับพระเจ้า เราจึงเริ่มเห็นว่า กำแพงนี่เองที่เป็นตัวถ่วงไม่ให้เรารักคนอื่นอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงมีพระบัญชากับเรา และเป็นตัวกำบังไม่ให้เราได้ยิน ไม่ให้เราตอบสนองพระวาจาของพระเจ้าในทุกเหตุการณ์ของชีวิตของเรา

     ในการภาวนา เราได้รับแสงสว่างจากพระจิตแห่งพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับเป็นขึ้นมา ผู้ซึ่งฉายความสว่างให้แก่ประสบการณ์ชีวิตของเรา และในที่สุดนำเราค้นพบพระเจ้าในทุกสิ่งทุกเหตุการณ์

     บ่อยครั้งในการภาวนาของเรา เราพบพระเจ้าก็เพราะพระองค์ทรงบุกเข้ามาในชีวิตของเรา และขณะนั้น เราไม่จำเป็นต้องพูด ต้องภาวนา เพราะทุกสิ่งจะถูกเผยด้วยความรักในความรัก เราเพียงแต่มอบตัวเราเอง ยอมจำนนต่อพระองค์ท่ามกลางพระพรที่พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงเรา แต่นี่ไม่ใช่การภาวนาแบบไม่ได้ทำอะไร (prayer of inaction) ตรงกันข้าม เรากลับรู้สึกว่า เราเต็มเปี่ยมด้วยชีวิต กระชุ่มกระชวยขึ้น สำหรับบางคนนี้เป็นรูปแบบการภาวนาประจำจนติดนิสัยของเขา  แต่สำหรับบางคน ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นไม่ค่อยบ่อยนัก

     ในการภาวนาของเรา เราควรฟังพระเจ้า พร้อมที่จะต้อนรับพระองค์ อย่างเช่นที่พระองค์ต้อนรับเราด้วยพระพรแห่งจิตสำนึก หรือความชื่นชมยินดีที่นำเราพบปะพระองค์

  • ชีวิตแห่งการภาวนาสม่ำเสมอจะดึงดูดเราให้สำนึกอย่างลึกซึ้งว่า เราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า จนกระทั่งเราไวต่อประสบการณ์การพบปะพระองค์ แม้ในเหตุการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยนำเราให้เห็นพระองค์ได้ทันที และเมื่อนั้นแหละที่เราจะอยู่ในสถานภาพแห่งการภาวนาตลอดเวลา ถึงแม้ว่าความตั้งใจความสำนึกตนอาจจะล่องลอยไปที่อื่น สถานภาพนี้อาจารย์ด้านคำภาวนาเรียกว่า “การค้นหาพระเจ้าในทุกสิ่ง”

     พระเจ้าทรงเรียกเราเสมอ ทรงตรัสกับเราในทุกเหตุการณ์ของชีวิตประจำวัน พระเจ้ามาหาเราในทุกเหตุการณ์ที่เราเผชิญอยู่ ในการงานของเรา ในการละเล่น ในบุคคลที่เราพบปะ ในหน้าที่รับผิดชอบ เหตุการณ์ประจำวันเหล่านี้เป็นคำเชื้อเชิญพระเจ้ามาอยู่กับเราที่นี่ และเดี๋ยวนี้ และเป็นการยอมให้พระเจ้าท้าทายเราให้ดำเนินชีวิตคริสตชนให้ครบบริบูรณ์

  • เราไม่ได้ถูกขอร้องให้เลือกระหว่างพระเจ้ากับโลก แต่ให้ค้นหาพระเจ้าในโลก และเผยพระองค์ต่อโลก

(จาก Pedagogy of Prayer by Fr. John Carroll Futrell. SJ.Review for Religious 67.1.2008)

(ที่มา : ราฟาแอล, 2010 น้ำทิพย์ เชิญจิบ, กรุงเทพฯ หน้า 135 – 140)

ศึกษาพระคัมภีร์

Catholic bible

ค้นหา

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

bkk2020

ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

เรื่องมาตรการและแนวทางภาคปฏิบัติ

เพื่อการเข้าร่วมพิธีกรรมของคริสตศาสนิกชนคาทอลิก

แรงจูงใจในการประกาศพระวรสาร

 

บทความดีดี